แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
อดีต กสม.ทวงถามธรรมาภิบาลรัฐ จี้เปิดทีโออาร์น้ำท่วมให้ ปชช. ได้รับรู้
รองประธาน คปก. ย้ำชัด แก้ปัญหาน้ำท่วม ต้องไม่ใช่การวางแผนในกระดาษ แล้วมาบังคับปชช.ทำตาม หวั่นออกแบบ สร้างโครงการขนาดใหญ่ มีปัญหาเวนคืนที่ดิน ปากบอกช่วยกลายเป็นซ้ำเติม โดยเอาน้ำมาเป็นข้ออ้าง
หลังจากรัฐบาลเปิดให้บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เดินทางมารับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) เพื่อจัดทำแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย นั้น
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมาการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเปิดโอกาสให้บริษัททั้งในและต่างประเทศได้เสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ในงบประมาณจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการนี้ธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะการที่รัฐบาลจะไปจ้างคนวางแผนจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งเขื่อน อ่าง ทั้งฝาย การปลูกป่า นั้นมีผู้คนที่เกี่ยวข้องมหาศาล ซึ่งต้องไม่ใช่การวางแผนในกระดาษ แล้วมาบังคับประชาชนให้ต้องทำ
"แม้แต่โครงการเล็กๆ ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น การคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เมื่อมาคิดถึงวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ให้ต่างประเทศและใครต่อใครเข้ามาประมูล จึงเกิดจะคำถามว่า เมื่อประมูลแล้วผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร จะสามารถทำได้หรือไม่ และรัฐบาลเองมีพิมพ์เขียวแล้วหรือไม่ ซึ่งถ้ามีแล้ว ทำไมรัฐบาลจึงไม่ประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ นอกจากนี้ยังสงสัยว่า ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วหรือยัง"
นางสุนี กล่าวด้วยว่า งบประมาณเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ก็มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นการดำเนินการโครงการใหญ่ๆ รัฐบาลต้องมีพิมพ์เขียว ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะต้องไม่ผิดหลักหลักการของสิทธิชุมชน หลักมีส่วนร่วม และหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งไม่แน่ใจว่า หากปล่อยให้บริษัทต่างชาติมาออกแบบแล้วจะทำได้
"ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำแผนบริหารจัดการน้ำใหญ่โตขนาดนี้ ทั้งๆที่ขัดกับหลักการทั้งหมด จึงเป็นห่วงมากว่า จะกลายเป็นความขัดแย้งในหลายๆ จังหวัด เพราะชาวบ้านไม่เห็นพิมพ์เขียว ยังไม่มีการลงไปสอบความเห็นชาวบ้าน หรือจัดการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น"
สำหรับข้อขัดแย้งที่อาจจะตามมาจากโครงการขนาดใหญ่นี้ รองประธาน คปก. กล่าวว่า อาจมีปัญหาในเรื่องของการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ฉะนั้นโครงการที่เกิดขึ้นแบบไม่มีกระบวนการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและไม่ดูที่มาที่ไปของชุมชน หวั่นว่า จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาบนพื้นฐานที่บอกว่าจะช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน โดยเอาน้ำมาเป็นตัวหลักข้ออ้าง ทั้งๆที่ชาวบ้านก็มีการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในแต่ละพื้นที่โดยสามารถต่อเป็นจิ๊กซอว์กันได้ทั่วประเทศ โดยที่ไม่ต้องทำโครงการขนาดใหญ่เลย
ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. กล่าวถึงการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำของไทย เพื่อต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและดีที่สุด ที่ไม่มีในประเทศไทยมาใช้ในการพัฒนาระบบน้ำ อย่างไรก็ตาม จะให้ความสำคัญบริษัทของไทยเป็นลำดับแรกก่อน