“ผู้หญิงกลิ้งโลก” มอบทุนจุดประกาย 4 โครงการ ย้ำปัญหาสตรี “เงิน” แก้ไม่ได้ทั้งหมด
ผู้หญิงกลิ้งโลกมอบ 4 รางวัลหนุนผู้หญิงให้ใช้ศักยภาพเพื่อสังคม 'สฤณี' เผยบทบาทสตรีมีปัญหาเรื่องค่านิยมทางเพศ ติงกองทุนพัฒนาสตรี ชี้แจงทำไมต้องเป็นสมาชิกก่อน หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง
วันที่ 27 มีนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพิมพ์สามสี ร่วมกับ Thai PBS จัดงานประกาศผลและแถลงข่าวโครงการที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 ด้านจากโครงการ 'ผู้หญิงกลิ้งโลก Showcase' ณ ร้านอาหาร Tessa ซอยทองหล่อ 23 โดยมี "มนทิรา จูฑะพุทธิ" บรรณาธิการบริหาร สนพ.สามสี "สฤณี อาชวานันทกุล" นักวิชาการอิสระ ผู้เขียนหนังสือ 'ผู้หญิงกลิ้งโลก' ร่วมงาน
บรรณาธิการบริหาร สนพ.สามสี กล่าวถึงโครงการผู้หญิงกลิ้งโลก ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ใช้ความรู้ ความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ ริเริ่มโครงการ สร้างสรรค์ผลงานให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและโลก ด้วยการมอบทุนสนับสนุนการทำงาน 120,000 บาทให้ผู้หญิงเพื่อสร้างสรรค์งาน ใน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปะเพื่อสังคมและสิทธิมนุษยชน
"การทำงานของโครงการครอบคลุม 3 ด้าน คือ 1.สื่อสารเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้เกิดการสื่อสารอย่างมีสาระและมีส่วนร่วมทางสังคม 2.มอบทุนสนับสนุนโครงการละ 30,000 บาท ให้แก่โครงการที่ผ่านการคัดเลือก 4 โครงการ 3.จัดเวทีสัมมนา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงแถวหน้าร่วมโครงการ เช่น นิรมล เมธีสุวกุล นักสื่อสารมวลชน ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ พัชรศรี เบญจมาศ พิธีกรชื่อดัง มนัสนันท์ พันธุ์เลิศวงศ์สกุล นักแสดง ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าว และลลิตา ศศิประภา นักแสดง"
ขณะที่สฤณี กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะถึงการต่อยอดโครงการว่า จากนี้จะติดตามการดำเนินงานของแต่ละโครงการว่าต้องการการสนับสนุนด้านใดบ้าง แต่เนื่องจากทั้ง 4 โครงการได้ผ่านการวางแผนมาบ้างแล้วให้มีการต่อยอด และสามารถทำต่อได้ ฉะนั้น เงินทุนจึงเป็นเพียงตัวจุดประกาย เหมือนเงินลงทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ
นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมปัจจุบันด้วยว่า แม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยจะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น พิจารณาจากตัวชี้วัดที่ว่า สัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารของประเทศไทยสูงที่สุดในโลก แต่ในทางปฏิบัติก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความไม่เท่าเทียมในหลายๆ ด้าน เช่น ค่าตอบแทน และค่านิยมทางสังคมที่แก้ยากที่สุด
"วิธีที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ค่านิยมทางสังคมไปสู่จุดที่มองเห็นความเท่าเทียมทางเพศจริงๆ จะต้องสนับสนุนผู้หญิงให้ใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายหรือเป็นเรื่องยาก ซึ่งโครงการที่เราคัดเลือกมาล้วนทำได้"
สฤณี กล่าวถึงนโยบายกองทุนพัฒนาสตรีด้วยว่า นโยบายที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้หญิงล้วนดีทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การกำหนดกติกา เนื่องจากมีหลายฝ่ายกังวลเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการใช้ทุน เพราะเมื่อใช้คำว่า "กองทุน" นำหน้า จะนำไปสู่ความคิดตั้งต้นว่า ต้องใช้ทุนเป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ แล้วในหลายปัญหาของผู้หญิงเงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด
"เราได้เห็นตัวอย่างของกองทุนมากมาย เช่น กองทุนหมู่บ้านที่มีลักษณะคล้ายกันว่า เงินอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไร ต้องมีการพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาทักษะควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ประเด็นของผู้หญิงเป็นเรื่องซับซ้อน สำหรับประเทศไทยปัญหาผู้หญิงไม่ใช่แค่การขาดโอกาส แต่เป็นเรื่องการถูกกระทำ ความไม่เท่าเทียม และการลวนลามทางเพศ ฉะนั้น การแก้ปัญหาเหล่านั้นต้องไม่ใช่เงินเป็นตัวตั้ง อาศัยการเยียวยาอย่างจริงจัง ยกระดับและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง" สฤณี กล่าว และว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่า หากเป็นกองทุนเพื่อผู้หญิงอย่างแท้จริง ทำไมต้องมีการสังกัด ต้องให้เป็นสมาชิก ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะนำไปใช้ทางการเมืองหรือไม่
"ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ต้องนำไปปรับแก้ และไม่อยากให้คนมองกองทุนนี้เป็นยาวิเศษที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้หญิงที่มีทั้งความไม่เท่าเทียม ความรุนแรงและการขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งตนหวังให้มีการปรับแก้เงื่อนไขให้มีความรัดกุมมากขึ้น"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า 4 โครงการที่ได้รับรางวัล ได้แก่
1. รางวัลสิ่งแวดล้อม โครงการ "The Missing Shoes" ประติมากรรมจากรองเท้าที่หายไป โดย กัญญารัตน์ โมษะวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ระดมกำลังคนและจิตอาสาออกเก็บขยะทั่วชายหาดเกาะลันตา แล้วมาทำการคัดแยก เช่น รองเท้าแตะ ไฟแช็ก ฯลฯ มาดัดแปลง แปรรูปเป็นงานศิลปะและผลิตเป็นสินค้าที่ระลึก เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายที่ Loy Lay Art & Gallery เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ให้เกิดจิตสำนึกรักษาความสะอาดท้องทะเล
2.รางวัลการศึกษา โครงการ "แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ" โดย พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยมีอาสาสมัครเข็นรถห้องสมุดนำหนังสือไปส่งผู้ป่วยเด็กๆ เพื่อสร้างความสุขและโอกาส จึงได้เพิ่มความรู้ เช่น ชมรมคณิตศาสตร์ ชมรมภาษาไทย ชมรมศิลปะ ให้เด็กที่เป็นผู้ป่วยหนัก ป่วยนานต้อขาดเรียนได้รู้สึกเติมเต็มและกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
3.รางวัลสิทธิมนุษยชน โครงการ "เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านสำหรับสุภาพสตรีอาข่า" โดย กลุ่มชาติพันธ์สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย เป็นโครงการที่ฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมและเรื่องราวของเด็กหญิงชาวอาข่าที่เริ่มเลือนหาย สร้างเวทีแลกเปลี่ยนสำหรับผู้หญิง ให้มีคุณค่าและบทบาทมากขึ้นในสังคมชาวอาข่า
4.รางวัล popular vote ด้านศิลปะเพื่อสังคม โครงการ "Anyone Can Draw ใครๆ ก็วาดได้" โดย กิตติอาภา ปุรณะพรรค์ เป็นโครงการศิลปะเพื่อคนพิการ ชวนคนพิการมาวาดรูป เปิดโลกทัศน์คนทั่วไปให้รับรู้ศักยภาพของคนพิการว่าสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนคนทั่วไป