ลดความเสี่ยงยามภัยพิบัติ อ.สถาปัตย์ฯ มธ. แนะ แยกเมืองหลวง-เมืองธุรกิจ-อุตสาหกรรมออกจากกัน
"ชุตยาเวศ" ชี้ คนกรุงควบคุมทุกอย่างไม่ให้น้ำท่วม เหตุไม่คิดเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ ด้าน "พงศกร" เผย เอาชีวิตรอดต้องทำอย่างมีสติ ชื่นชม คนต่างจังหวัดมีระเบียบวินัย-ไม่ตื่นน้ำท่วม สวนทางชาวกรุง ติดความสะดวกสบาย
วันที่ 12 พฤศจิกายน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่าย Design for Disasters จัดเสวนา “ต้องรอด” ในหัวข้อ "กทม.เป็นเมืองน้ำ เราลืมไปแล้วเหรอ?" และ "การปรับสภาพและดูแลจิตใจให้อยู่กับน้ำ" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง Design for Disasters และนายพงศกร พัฒผล ผู้เชี่ยวชาญการเดินป่าและผจญภัยแห่ง Thailand Survival ร่วมเสวนา
นายชุตยาเวศ กล่าวว่า กรุงเทพฯ แต่เดิมเคยเป็นเมืองน้ำ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 เรามีการพัฒนาคลองมาโดยตลอด ซึ่งคลองส่วนใหญ่ที่เรารู้จักในปัจจุบัน ไม่ว่าจะคลองแสนแสบ คลองมหาสวัสดิ์ คลองรังสิตก็ล้วนมาจากการขุด การพัฒนาคลองทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการตัดถนน กรุงเทพฯจากเมืองคลองก็กลายเป็นเมืองบก บ้านเรือนที่เคยยกสูง หันหน้าเข้าคลอง ก็เปลี่ยนมาตั้งอยู่ริมถนนเพื่อทำการค้า จนกรุงเทพก็ถูกยัดเยียดการพัฒนาด้านถนนมาโดยตลอด และถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีรถไฟฟ้า ระบบขนส่งที่หลากหลายมากขึ้น แต่คำถามคือ เราจะสามารถเปลี่ยนพื้นที่ถนนกลับมาเป็นคลอง หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อรับน้ำได้อีกหรือไม่
“ที่ผ่านมาเราพยายามควบคุมทุกอย่างเพื่อให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพ สร้างประตูระบายน้ำ พยายามเอาชนะธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่งนั่นสะท้อนว่า เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ หรือเข้าใจว่า ทุกอย่างไม่สามารถควบคุมได้”นายชุตยาเวศ กล่าว และว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เรามีที่ดินสาธารณะสำหรับใช้เป็น Flood way ประมาณ 50,000-60,000 ไร่ แต่ในปี 2538 พบว่า ที่ดินดังกล่าวเหลือเพียง 3,000 กว่าไร่เท่านั้น ฉะนั้น เรื่องการใช้ที่ดินจึงมีความสำคัญ ต้องมองถึงผลกระทบระยะยาว เพราะธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เมื่อถามว่า จากภัยพิบัติครั้งนี้มีการเสนอให้การย้ายเมืองหลวงหรือกระจายความเจริญ นายชุตยาเวศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพก็มีความพยายามในการกระจายความเจริญไปที่แจ้งวัฒนะ แต่ก็เป็นระยะทางที่ใกล้ไป ส่วนการย้ายเมืองหลวงนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ในหลายประเทศก็กำลังดำเนินการอยู่ แต่สำหรับตนนั้นเห็นว่า กรุงเทพควรเป็นเมืองหลักต่อไป เพียงแต่ต้องลดความสำคัญกับกรุงเทพลง โดยน่าจะมีการกระจายเมืองหลวง เมืองธุรกิจ เมืองอุตสาหกรรมออกจากกัน เพื่อลดความเสี่ยง ในกรณีเกิดภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม นายชุตยาเวศ กล่าวถึงการอยู่กับน้ำด้วยว่า หากจะเอาชีวิตรอดได้นั้น การรู้จักสิ่งที่อยู่รอบตัวเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งของแต่ละชิ้นมีโครงสร้างหรือกลไกพื้นฐานอย่างไร ต้องรู้จักเรียนรู้ เพื่อในยามวิกฤตจะได้นำมาประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้ การออกแบบหรือการตกแต่งสวน ต่อไปคงต้องเน้นการปลูกพืชที่สามารถนำเป็นอาหารได้ด้วย เพื่อเพิ่มประโยชน์มากขึ้น
ขณะที่ นายพงศกร กล่าวถึงการใช้ชีวิตในสถานการณ์ภัยพิบัติว่า การพึ่งพาตนเองให้มาก ขอความช่วยเหลือให้น้อยที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะทำให้เราสามารถอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในต่างจังหวัด พบว่า ชาวบ้านมีระเบียบวินัย ไม่ยื้อแย่งของบริจาค เนื่องจากมีความคุ้นชินกับสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่คนกรุงเทพฯ ติดกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไป ดังนั้น สูงสุดต้องคืนสู่สามัญ การเอาชีวิตรอดต้องกระทำอย่างมีสติ ขณะเดียวกันการรับข้อมูลข่าวสารต้องใช้วิจารณญาณ อย่าเชื่อทั้งหมด