“ทีมกรุ๊ป” คาดน้ำท่วมฝั่งธนฯ อีก 2 สัปดาห์ ' บางรัก สาทร คลองเตย ดุสิต บางซื่อ' รอด
“ทวีจิตร” แนะ อย่าคิดเอาชนะธรรมชาติ-ปล่อยน้ำไหลผ่าน ชี้ ซ่อมบ้านจ่ายน้อยกว่าซื้อกระสอบทราย ด้านสุทธิพงษ์ จี้ แก้ปัญหาน้ำท่วมตามบริบท-ความรุนแรง มองคนชนบทเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำมากกว่าคนกรุง
วันที่ 10 พฤศจิกายน ดั๊บเบิล เอ จัดงานเสวนา “อยู่กับน้ำ” (Don’t let Flood STOP your Life) ณ โรงแรมแพนนินซูล่า กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ โดยมีนายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (กลุ่มบริษัททีมกรุ๊ป) นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กก.ผู้จัดการ บ.ทีวีบูรพา จำกัด นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ นักมานุษยวิทยา นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูถัมภ์ ร่วมเสวนา
นายชวลิต กล่าวถึงปริมาณน้ำในปี 2554 ที่มีมากกว่าปกติถึง 1.4 เท่า โดยพื้นที่ 7,000 ตารางกิโลเมตรมีน้ำทั้งหมด12,000 ล้าน ลบ.ม. และน้ำทั้งหมดมีจุดหมายเดียวคือลงทะเล ซึ่งหลังวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้น้ำจะระบายลงทะเลได้ดีขึ้น และคาดว่าน้ำจะท่วมขังในพื้นที่ฝั่งธนฯ อีกประมาณ 2 สัปดาห์
ในส่วนของพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนวงแหวน ไม่ว่าจะเขตทุ่งครุ คลองสาน ธนบุรี ราษฎร์บูรณะ รวมถึงด้านตะวันออกของเขตบางแค บางบอน นายชวลิต กล่าวว่า จะรอดจากการถูกน้ำท่วม ขณะที่ฝั่ง กทม. เขตที่จะไม่ถูกน้ำท่วมคือ บางรัก สาทร คลองเตย ดุสิต บางซื่อ อีกทั้งในส่วนของรามคำแหงที่กลัวว่าน้ำจะท่วมนั้น ก็มีอุโมงค์พระราม 9 ช่วยอยู่ เช่นเดียวกับดินแดงที่มีบึงมักกะสัน อนุสาวรีย์มีคลองสามเสน ดังนั้น น่าจะรอด แต่ก็อย่าพึ่งประมาท ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวาง อีกทั้งในแต่ละพื้นที่ก็มีความรุนแรงและรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ในชนบทผู้คนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำมาตั้งแต่อดีต ขณะที่คนใจกลางมหานคร ไม่มีความรู้ ไม่คุ้นชิน จึงไม่ได้เตรียมความพร้อมในการอยู่กับน้ำ ดังนั้น การจัดการปัญหาจึงต้องมีบริบทที่ต่างกัน ขณะเดียวกันในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็จำเป็นต้องมีวิธีจัดการที่ต่างกันเช่นกัน เนื่องจากผู้ประสบภัยมีหลายประเภท บางคนแค่เดือดร้อน แต่ยังสามารถใช้ชีวิตปกติได้ ขณะที่อีกคนถึงขั้นไม่ไหวแล้ว จึงจำเป็นต้องได้รับช่วยเหลือเป็นอันดับแรกและเร่งด่วน
ขณะที่ นพ.โกมาตร กล่าวถึงทางเลือกของผู้ประสบภัยว่า นอกจาก "วาทกรรม" ให้อพยพออกจากบ้านแล้ว ที่ผ่านมายังไม่เห็นวิธีคิดหรือทางเลือกที่มากกว่านี้ แต่จากการลงไปศึกษาชุมชนคลองมหาสวัสดิ์พบว่า เมื่อชาวชุมชนมีเจตจำนงที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไปก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมความพร้อม ทั้งสถานที่ สาธารณูปโภค ฯ แต่การดำเนินงานก็ใช่ว่าจะราบรื่น มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ดังนั้น การจัดการระบบผู้นำและความสามัคคีจึงเป็นเรื่องสำคัญ การออกแบบระบบเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างบุคคล มีผู้นำทำหน้าที่เป็นตัวแทน จะช่วยให้ชุมชนไทยสามารถเผชิญหน้ากับน้ำได้ดี
ด้านนายทวีจิตร กล่าวว่า ตนก็เหมือนกับคนทั่วไปที่คิดว่าจะมีสิ่งศักดิ์มาช่วยให้น้ำไม่ท่วม แต่น้ำสูงกว่าที่คาดคิดและยังมาเร็วมาก แม้หมู่บ้านจะอยู่ในพื้นที่ดอน มีคลองสำหรับพักน้ำ รวมถึงบริเวณบ้านยังมีกระสอบทรายและระบบป้องกันจำนวนมาก แต่สุดท้ายน้ำก็ท่วมอยู่ดี ดังนั้น อย่าคิดเอาชนะธรรมชาติ แต่ควรนำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์จะดีกว่า
ส่วนใครที่กลัวว่าน้ำท่วมแล้วบ้านจะพัง โครงสร้างจะทรุดนั้น นายทวีจิตร กล่าวว่า น้ำท่วม 2 เดือนโครงสร้างตัวบ้านยังไม่มีปัญหา นอกจากบ้านจะอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำที่มีโอกาสดินสไลด์ ส่วนสีพนังห้อง พื้นกระเบื้องหรือพื้นไม้นั้นอาจมีชำรุดบ้าง แต่เชื่อว่าค่าซ่อมแซมถูกกว่าค่ากระสอบทรายกั้นน้ำแน่นอน ดังนั้น ในขณะนี้หากบ้านใครน้ำยังไม่ท่วม ตนอยากแนะนำว่า เก็บเงินไว้ซ่อมบ้านดีกว่า
“ปัญหาของน้ำท่วมไม่ได้อยู่ที่น้ำ แต่เป็นเรื่องของการระบบโลจิสติกส์ การขนส่งคน อาหาร รวมทั้งยารักษาโรค ซึ่งถ้าระบบขนส่งไม่ล้มเหลวก็ไม่จำเป็นต้องกลัวน้ำ เพราะเราสามารถอยู่รอด อยู่กับน้ำได้”