ผลสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กอีสาน-ใต้ นำโด่ง ภาคกลางต่ำสุด
ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหิดล จี้เร่งสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมเปิดเว็บไซต์ให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ-พัฒนาชีวิตเด็กไทย
วันที่ 3 ตุลาคม สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “พลังบวกเพื่อเด็ก : จุดเปลี่ยนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย” ณ ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม โดยมี นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวเปิดงาน
นพ.สุริยเดว กล่าวว่า แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้สำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กไทยทั่วประเทศ เมื่อปี 2553 จำนวน 12,200 คน พบปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยอ่อนแอ 10 ลำดับแรกที่น่าเป็นห่วง คือ 1.รู้เท่าทันสื่อ 53% 2.จิตสำนึกของชุมชนในการอยู่ร่วมกัน 55% 3.จิตอาสา 56% 4.ความกล้าแสดงออก 58% 5.ใฝ่เรียนรู้ 59% 6.ใฝ่รู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น 61% 7.ควบคุมอารมณ์ตนเอง 61% 8.หลักธรรมศาสนาสู่วิถีชีวิต 62% 9.รักการอ่านหนังสือ 63% และ10.โอกาสเข้าร่วมกิจกรรม 65%
“ผลสำรวจ พบว่า เด็กภาคอีสานและภาคใต้ มีต้นทุนชีวิตอยู่ในระดับสูงกว่าภาคอื่นๆ ในขณะที่ภาคกลางอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ยังถือได้ว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”
จากนั้นมีการแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ “ความรู้เพื่อชีวิต” www.factsforlifethai.cf.mahidol.ac.th โดย นางดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมแถลง
ดร.เบญจลักษณ์ กล่าวว่า เว็บไซต์ “ความรู้เพื่อชีวิต” จะบรรจุเนื้อหาสาระสำหรับครอบครัว เกี่ยวกับข้อมูลการดูแลสุขภาพที่เป็นวิถีชีวิตและมิติทางสุขภาพ และส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ตั้งแต่แรกเกิด วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยครอบครัว ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพในแบบฉบับเว็บไซต์ออนไลน์ ทำให้ข้อมูลด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องง่าย ทุกคนสามารถนำองค์ความรู้มาใช้ปฏิบัติได้จริง
“ทุกบทความได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ร่วมถอดประสบการณ์และสรรค์สร้างงานเขียนในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย อิงหลักวิชาการ เหมาะสำหรับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย และผู้สนใจเพิ่มคุณภาพชีวิต สามารถนำความรู้มาประยุกต์ ปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการของเด็กเพื่อชีวิตที่ดีของเด็กไทย”
ขณะที่นางพนิตา กล่าวว่า ความรู้เพื่อชีวิต (Facts for Life) เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการที่ใช้ปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน “ความรู้เพื่อชีวิตออนไลน์” จึงเป็นแหล่งบูรณาการความรู้ทางวิชาการให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลที่กว้างขวางขึ้น และประยุกต์กับการดำเนินชีวิตของตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครด้านสุขภาพ สาธารณสุข พัฒนาสังคม การศึกษา ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและชุมชนใช้เพิ่มเติมความรู้ หรือประกอบการ จัดทำสื่อ
“ก่อนหน้านี้ ได้หารือกับปลัดกระทรวงไอซีที เพื่อสนับสนุนการจัดทำโปรแกรมคัดกรองการเข้าสู่เว็บไซต์ในโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน โดยมีรหัสสำหรับให้พ่อแม่นำไปใช้ในการเข้าสู่เว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่ ป้องกันการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งเข้าถึงสื่อลามกและเกมออนไลน์ที่มีความรุนแรง และเป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นทาง”