9 จินตนาการใหม่ ความฝันประชาธิปไตยไทย
ภุชงค์ กนิษฐชาต ย้อนไทยต่อสู้ประชาธิปไตยครั้งไหนไม่เคยเห็นภาพอนาคต เล็งศึกษาลึกประเทศต้นแบบประชาธิปไตยคู่กับชุมชน
วันที่ 16 มิถุนายน เครือข่ายพลเมืองอภิวัตน์ ร่วมกับ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานปฏิรูป และอีกหลายองค์กรร่วมจัดเวที “20คมความคิด 20ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทย” เวทีพลเมืองอภิวัตน์ คนเปลี่ยนประเทศเปลี่ยน ณ ห้องประชุมชั้น3 อาคารเอนกประสงค์1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายภุชงค์ กนิษฐชาต ผู้ปฏิบัติการทางสังคม กล่าวถึงจินตนาการใหม่ ประชาธิปไตยไทย โดยได้ย้อนภาพให้เห็นเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2516 และได้ตั้งคำถามถึงผู้คนก่อนการเข้าร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น ตอนที่เดินเข้าไป คิดบ้างหรือไม่ว่าทางออกจะเป็นอย่างไรในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะครั้งไหน เมื่อชนะแล้วก็จินตนาการไม่ได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เราเสียสละชีวิตเข้าไปนั้น ภาพร่างอนาคตของเราไม่เคยชัดเจนสักครั้ง
"หลายปีที่อยู่ในวงจรขับเคลื่อนเหล่านี้ ก็ยังมองไม่เห็นภาพร่างว่า การเมืองไทยเป็นอย่างไร บางคนอาจจะยังไม่เคยใช้เวลาในการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อสร้างทางออกของอนาคต โดยฉันทานุมัติของสังคมไทยก็ยังไม่ตกผลึกในการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยแม้แต่สักขบวนการเดียว" นายภุชงค์ กล่าว และว่า มีผู้พยายามบอกหรือถามว่า ระบบบประชาธิปไตยที่เหมาะสม ดีที่สุด ครบวงจร เป็นออย่างไร ซึ่งเราควรใช้เวลา 1 ปี ศึกษาทฤษฎีอย่างเต็มที่กับประเทศต้นแบบ ประชาธิปไตย 7 ประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น จีน เวเนซูเอลา ดูข้อดีข้อเสียเอามาปรับปรุง แล้วมาแลกเปลี่ยนขบคิดกันเป็นร่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง
นายภุชงค์ กล่าวถึงประเทศอังกฤษถือได้ว่าเป็นต้นแบบของประชาธิไตยไทย เยอรมนีเน้นประชาธิปไตยบนพื้นฐานความรู้ สิทธิ วินัย หรืออย่างเวเนซูเอลาเองก็มีประชาธิปไตยบนความต่อสู้และแสวงหา คณะผู้ศึกษาจึงนำข้อดีข้อเสียเหล่านี้มาสร้างรูปแบบที่เหมาะสมให้กับประเทศไทย ในทางกลับกัน รูปแบบประชาธิปไตยระดับย่อย อย่าง "หนองกลางดงโมเดล" ที่พบว่า ผู้นำชุมชนแม้จะขาดความรู้ในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่เลือกวิธีการประชุมชาวบ้านแล้วให้ร่วมกันหาข้อสรุปสำหรับทางออก ซึ่งทำให้วิธีแก้ไขเป็นที่รับได้ของทุกคนในชุมชนในทุกๆครั้ง
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอสาธารณะว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยในจินตนาการ ได้แก่
1. พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และสัญลักษณ์ของประเทศ
2. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรียนรู้ มีส่วนร่วม ลงประชามติ เป็นเจ้าของ ยั่งยืน
3. ปฏิรูปอำนาจตรวจสอบ และถ่วงดุล เสมือนอำนาจอธิปไตยที่4 จัดแถวผนึกกำลังองค์กรอิสระ คัดสรรภาคประชาชนเข้าร่วม ตรวจธรรมาภิบาลเข้มทั้งระบบ
4. ผ่าตัดโครงสร้างอำนาจรัฐ จัดแยกอำนาจชัดเจน บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ และธรรมาภิบาล อำนาจบริหาร-ปกครอง ส่วนกลาง-ท้องถิ่น การเมือง-ข้าราชการ ล้างคราบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของระบบอุปถัมภ์
5. นายกฯ มาจากการเลือกตั้งทางตรง พร้อมแสดงบัญชีรายชื่อ ครม. ต่อสาธารณะ
6. ยกเครื่อง รัฐสภา ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และถอดถอน (Impeachment) เค้นคนคุณภาพจากทุกสำนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาอาชีพ และพื้นที่ ทำงานเชิงรุกในระบบคณะกรรมาธิการ
7. รื้อระบบราชการ ยกเลิกผู้ว่าฯ (ด้านอำนาจการปกครอง) ประชาชนจัดการตนเอง
8. ดับไฟใต้ด้วยนวัตกรรมการบริหาร ปฏิรูปความมั่นคง ตั้งกระทรวงพื้นที่ ถ่ายโอนอำนาจ ยุติสู้รบ หันมาร่วมพัฒนา
9. ส่งเสริมพลเมือง สร้างพลังอภิวัฒน์ ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิวัติระบบการสื่อสารและการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล ให้บทบาทภาคประชาสังคมเต็มที่
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า เราไม่ได้เพียงแค่บ่นและแม้ว่าบางข้อจะสอดคล้องกับกับศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปฯ กับสมัชชาปฏิรูปฯ แต่จะนำเรื่องหรือข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าวขึ้นมาเสนอเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการพยายามให้การปฏิรูปอยู่ในนโยบายของรัฐบาล ถ้าประกาศนโยบายปฏิรูปขึ้นมา จะต้องถูกจับตาและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้
"ข้อเสนอทางจิตนาการผ่านการศึกษาเหล่านี้ มุ่งเน้นที่จะนำเสนอต่อภาคสังคมและรวบรวมเป็นข้อเสนอประชาชน และอาจเสนอต่อสมัชชาปฏิรูป เนื่องจากสมัชชาปฏิรูปทำงานโดยไม่ผ่านรัฐบาล ซึ่งจินตนาการนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นจริงได้ และไม่คาดหวังให้รัฐบาลชุดใดจะยอมรับข้อเสนอข้อขัดข้อง แต่หวังว่า สังคมจะเห็นแล้วเกิดการผลักดัน ถ้าไม่เริ่มที่ประชาชน รัฐบาลจะไม่สามารถถูกกดดันให้ทำตามความต้องการอันชอบธรรมของประชาชนได้ แม้ว่าจะไม่เห็นความเคลื่อนไหวหรือปฏิกิริยาของรัฐบาล แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเชื่อมโยงกับสื่อระดับชุมชน ให้คนในชนบทได้เกิดความรู้ใหม่ ได้ทำ ได้เปิดเวที เพื่อร่วมผลักดันองค์ความรู้ต่อรัฐบาลสู่การปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย"