ชมรมจักรยานฯ จับมือจัดตั้ง “สมาพันธ์จักรยานประเทศไทย”
“ธงชัย” ชู แนวคิดสร้างชุมชนคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เอาอย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หวัง ลดมลพิษ ลดการใช้พลังงานในประเทศ ชี้ เปลี่ยนพฤติกรรม-วิธีคิด ให้คนเห็นความสำคัญ-อยากขี่จักรยาน เป็นเรื่องสุดหิน
วันที่ 5 มิถุนายน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุ ขภาพ (สสส.) จัดประชุมโครงการ “ร่วมกันสร้างชุมชนจักรยานและสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยาน” ณ ห้องประชุมออดิทอร์เรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสร้าง ‘ชุมชนจักรยานในสังคม’ ว่า เป็นการสร้างชุมชนที่มีผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการใช้จักรยานดังกล่าว อาจเป็นลักษณะของการสัญจรในรัศมีใกล้ๆ เช่นไปซื้อก๊วยเตี๋ยว ปาท่องโก๋หน้าปากซอย ฯลฯ
“การสร้างชุมชนจักรยานดังกล่าว ต้องคำนึงถึงความต่างกันของพื้นที่ ความเป็นชุมชนในและนอกเมือง ความหนาแน่นของประชากรและการจราจร เนื่องจากบริบทที่ต่างกัน ย่อมส่งผลให้ความเป็นชุมชนจักรยานแตกต่างกันออกไป เช่น ชุมชนในกรุงเทพ อาจจำต้องมีทางจักรยานโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอันตราย ขณะที่ในชนบท อาจไม่มีความจำเป็น”
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า การสร้างชุมชนจักรยาน การสร้างสังคมที่น่าอยู่นั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ ต้องทำให้ประชาชนหันมาคิดใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือและแรงผลักดันจากภาครัฐ เนื่องจากต้องยอมรับว่า ในบางเรื่องชุมชนไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ กอปรกับชุมชนขนาดเล็กที่มีคนประมาณ 2,000 คน คงไม่มีแรงผลักมากพอ ที่จะก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะ เช่น การสร้างเส้นทางจักรยาน สถานที่จอดรถจักรยาน รวมทั้งกระแสสังคมที่ทุกคนใช้จักรยานได้
ส่วนการจัดตั้ง ‘สมาพันธ์จักรยานประเทศไทย’ นั้น ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวว่า เป็นการรวมตัวหลวมๆ ระหว่างกลุ่มคน ชมรมต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีเครือข่ายจากทั่งทุกภูมิภาคเข้าร่วมแล้ว ส่วนในลำดับต่อไปจะเป็นการหารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินการของสมาพันธ์
เมื่อถามถึงข้อกังวล หรือเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องเข้าช่วยเหลือหรือแก้ไข ปธ.ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องเร็วไปที่จะด่วนสรุป เพราะขณะนี้สมาพันธ์ยังอยู่ในช่วงก่อตั้ง คงต้องรอจนกว่าจะมีการประชุมระหว่างผู้ประสานงานจากภาคต่างๆ เสียก่อน ซึ่งหากประเด็นใดที่จะผ่านการตกผลึกทางความคิดร่วมกันแล้ว ถึงจะมีการเสนอ ต่อไปยังภาครัฐ
ทั้งนี้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวถึงการลดมลพิษด้วยการใช้จักรยานว่า ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก พบว่า มีการใช้จักรยานในการเดินทางประมาณร้อยละ 30-40 ของสัดส่วนการเดินทางทั่วประเทศ ขณะเดียวกันพบว่า ในการเดินทางจำนวน 100 ครั้งมีสัดส่วนของการใช้จักรยานถึง 30 ครั้ง สิ่งเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการลดพลังงาน ค่าใช้จ่าย และลดปัญหาโลกร้อน
“หากเลิกใช้รถยนต์และหันไปใช้จักรยาน จะพบว่า ในระยะทาง 1 กิโลเมตรจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 300 กรัม ซึ่งแน่นอน หากสามารถส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยประมาณ 20 ล้านคน หันมาใช้จักรยานสัญจรวันละประมาณ 10 กิโลเมตร เชื่อว่าจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล และจะเป็นผลดีต่อชุมชน สังคมและโลกอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เนื่องจากการแก้ปัญหาเรื่องการใช้จักรยานในทางกายภาพ เช่น การไปทาสีขีดเส้นสร้างช่องทางจักรยานนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิดของคนให้อยากขี่จักรยาน นับเป็นเรื่องยากที่สุด”
ประมวลภาพบรรยากาศ: