หัดดำนา .... หน้ามิวเซียมสยาม
เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรชาวไทย สัญลักษณ์ที่แสดงถึงฤดูกาลหว่านไถ ปลูกข้าวทำนาประจำปีของบรรดาชาวนา
ไม่ไกลกันนัก จากพลับพลาพิธีท้องสนามหลวง ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสนามไชย กรุงเทพมหานคร ได้เนรมิตสนามหญ้าด้านหน้า ให้กลายเป็น “นาข้าว” ขนาดย่อม ดึงดูดบรรดาผู้คนที่ยังไม่เคยสัมผัสวิถีชีวิตชาวนา ให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติการ “ชาวนามือใหม่” ไปกับนิทรรศการ "Know-How ชาวนา นักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง"
ก้าวแรก...เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้า ก็พาเพลินไปกับบรรยากาศที่หาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน เพราะนอกจากแปลงนาข้าวสาธิต ที่จัดเตรียมพร้อมรอการลงแขกดำนาแล้ว ยังมีนิทรรศการกลางแจ้งให้ได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญา ศาสตร์และศิลป์ บวกกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทยด้วย
หากเดินวนไปรอบๆ เราจะพบ “ยุ้งฉางข้าว” ที่มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านบรรจุในขวดโหลใส จัดเรียงขึ้นชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน
โซน “ข้าวฟรี! สีเอง” กับการเรียนรู้ถึงกลไกของเครื่องสีฝัด เครื่องสีมือ และขั้นตอนต่างๆ ในการแปรรูปข้าวเปลือก พร้อมกับให้ลงมือสีข้าวด้วยตนเอง
ส่วนโซน “ไม้กระดก ครกกระเดื่อง” จัดเรียงให้เห็นเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต ที่วันนี้ได้กลายมาเป็นของเล่นที่ทุกคนคุ้นเคยไปเสียแล้ว
หรือจะเดินมาที่โซน “ขวัญข้าว และพิธีกรรม” บ่งบอกถึงความเชื่อ และพิธีกรรมต่างๆ ในทุกขั้นตอนของการเพาะปลูก รวมถึงการไว้แม่พระธรณีด้วย
ส่วนโซน “ระเบิดเกวียน” ก็มีป้ายบอกว่า เป็นบรรพบุรุษ ของ “รถสิบล้อ” ไม่สงสัยเลยว่า ทำไม ก็เพราะมีกลไกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบนั่นเอง
“ถือไถ” มุมนี้จัดแสดงให้เห็น เมื่อถึงฤดูทำนา ชาวนาจะต้องกำคราด และคันไถพร้อมสรรพเพื่อปรับเตรียมดินในผืนนา เดินพอได้เหงื่อ ก็มาสุดที่โซน “ถอดระหัด” เรียนรู้กลไกการทำงาน “ขั้นเทพ” ของระหัดวิดน้ำ ทั้งระหัดชกมวย ระหัดเท้าถีบ รวมถึงเครื่องมือวิดน้ำดีไซน์เบาๆ
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่า ย่อส่วน และรวบรวมมาไว้อยู่รอบๆ “นากลางกรุง ทุ่งสีทอง” ณ มิวเซียมสยาม
หลายคนอาจสงสัย ทำไมถึงต้องทำนาในกรุงเทพฯ ด้วย
คำถามนี้ได้รับคำตอบจากผู้จัดงานนิทรรศการ โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ชาวนากำลังลดน้อยลงไปทุกที ราคาขายข้าวก็ตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนกลับสูงขึ้น ๆ แม้แต่การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทำนา ก็เริ่มเปลี่ยนมือไป “คนทำนา ไม่ได้เป็นเจ้าของนา” ดังนั้น คณะผู้จัดงานเห็นควรจะต้องมีการกระตุ้นสังคมไทย ว่า เรายังต้องหวังพึ่งพาข้าว พึ่งพาชาวนาอยู่
“การทำนาเป็นเรื่องของคนทั้งชาติ แม้ไม่ได้ทำนา เราก็ต้องกินข้าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็คงไม่ถูกต้องนัก” ครูอ้อม "สุริศรา บัวนิล" จากโรงเรียนรุ่งอรุณ หนึ่งในผู้ดำเนินงานโครงการนิทรรศการนี้ ให้ทรรศนะ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว กับกิจกรรมทำนาหน้ามิวเซียมสยาม
ก่อนเวลาเปิดงาน ผู้คนก็เริ่มทยอยเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศแห่งท้องทุ่งนากันอย่างหนาตา บ้างหอบลูกจูงหลานมาเดินเล่นบนคันนา บ้างก็พากันไปหลบร้อนอยู่ภายในกระท่อมหลังเล็กที่ถูกปลูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ บนเถียงนา
พลันที่ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ สวมบทชาวนากิตติมศักดิ์ ใส่เสื้อม่อฮ่อม พับขากางเกงเลยหัวเข่า หยิบหมวกเดินมาพร้อมผู้ติดตาม เหยียบย่ำดินและโคลนเพื่อลงปักดำนา เอาฤกษ์เอาชัยก็เสมือนเป็นสัญญาณบอกให้บรรดามือใหม่หัดดำทั้งหลาย เฮโลกันลงมาช่วยดำนาได้แล้ว
“ใช้มือนี่แหละ ดำนา มีเทคนิคนิดหน่อย ก่อนอื่นเราจะจับต้นกล้า โดยให้หัวแม่มืออยู่ที่โคนต้น จากนั้นใช้หัวแม่มือกดนำลงดินไป พารากลงไปเมื่อลึกพอแล้วก็ใช้มือบีบดินให้หุ้มโคนต้นไว้ไม่ให้ลอยขึ้นมา” เสียงปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวนามืออาชีพ พร่ำสอนชาวนามือใหม่ หัดทำ ดำนา อย่างน่าเอ็นดูอยู่บนคันนา
ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง แปลงนาหว่าน ถูกกระชับให้เป็นพื้นที่ของชาวนาตัวจริง จัดการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวให้สม่ำเสมอ และทั่วแปลงนา "ชัยพร พรหมพันธุ์" เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา บอกว่า งานนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การทำนาไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขนาดในเมืองยังเอามาทำได้เลย เพียงแต่คนที่จะทำต้องรู้ เข้าใจ เรียนรู้ขั้นตอนการทำนา ก็จะรู้ว่าอาชีพนี้ทำได้ไม่ยาก
จากการร่วมลงแขกดำนากันเป็นกลุ่มๆ ช่วยกันหยิบจับต้นกล้า ถอนกล้าคนละไม้คนละมือมาปักดำ แค่เพียงเวลาไม่นาน พอแดดร่มลมตก มือใหม่หัดดำนาจากหลากหลายวัยก็สามารถพลิกพื้นที่กว้างแห่งนี้ให้กลายเป็นทุ่งนาเล็กๆ ใจกลางกรุงได้อย่างไม่ยากเย็น…..
เสร็จภารกิจดำนาหน้ามิวเซียมสยาม ผ่านไป 1 อาทิตย์ เราได้มีโอกาสแวะเวียนกลับมาที่นี่อีกครั้ง....
คราวนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่า นากลางกรุงต้องเจอกับสภาพฝนฟ้าและอากาศที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา
ยิ่งเมื่อเพ่งสายตามองจะเห็น ต้นกล้าเขียว ๆ เริ่มงอกออกมา ในแปลงนาหว่านแล้ว
ขณะที่แปลงนาดำ ต้นกล้าที่เคยโย้ไปเย้มา เริ่มตั้งรูปตรงดิ่ง
วกเดินกลับไปดูที่ป้ายปฏิทินชาวนาฉบับมิวเซียมสยาม บอกให้เรารู้ว่า ช่วงนี้กำลังอยู่ในช่วง “การเลี้ยงดูต้นข้าว” เพื่อจัดสมดุลของห่วงโซ่อาหาร โดยมีการใช้เทคนิคคอยไขน้ำเข้า ไขน้ำออก เพื่อหลอกให้ข้าวโต ก่อนจะมีการบำรุงรักษาข้าวและกำจัดศัตรูพืช โรค และแมลงต่างๆ
วันนั้นเรามีโอกาสได้เจอกับคณะของครูอ้อม ที่พาคุณครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณ มาคอยมาดูแลแปลงนาอยู่เนือง ๆ ครูอ้อม บอกว่า ได้หากองฟาง ลานดิน มาตกแต่งเพิ่มเติม และเตรียมปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาในนาข้าวด้วย ก่อนจะแสดงความเป็นห่วงช่วงที่ข้าวตั้งท้องออกรวงว่าจะสามารถรับมือกับฝูงนกที่จะลงมาจิกข้าวกินจนเสียหายอย่างไร
นี่คือการทำนากลางกรุงที่จะแตกต่างกับนาข้าวต่างจังหวัดที่เจอกับปัญหาแมลงและศัตรูพืช
เห็นครูอ้อม เกาะติดทุกความเป็นไป เฝ้าดูการเจริญเติบโตของต้นข้าวแล้ว สำหรับใครที่อยากเป็นนักค้นคว้าแห่งท้องทุ่งบ้างก็สามารถไปร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาได้จนถึง 25 กันยายน 2554 โดยไฮไลท์ของงานยังมีอีกช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง 12 สิงหาคมนี้ กับพิธีกรรมรับขวัญข้าว ไหว้พระแม่โพสพตามประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ..