“ปีติพงศ์” ย้ำ ‘ข้าว’ ไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นจิตวิญญาณของคนไทย
ชาวนาดีเด่น ชี้ คนรุ่นใหม่หันหลังให้อาชีพเกษตร เพราะเห็นพ่อแม่ ยิ่งทำยิ่งจน แนะ เลิกใช้สารเคมี-รู้จักปรับตัว ดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงและเพิ่มผลผลิต
วันที่ 12 พฤษภาคม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดนิทรรศการ “Know-How ชาวนา นักค้นคว้าแห่งท้องทุ่ง” เพื่อจัดแสดงขั้นตอนในการปลูกข้าว รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวนา เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ณ มิวเซียมสยาม โดยมีนายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวต้อนรับ
นายราเมศ กล่าวว่า สพร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวและชาวนาที่มีต่อวิถีชีวิตของคนไทยจึงร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ นำเรื่องราวของข้าวและชาวนามาจัดแสดงเป็นนิทรรศการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม-25 กันยายนนี้ เพื่อให้คนไทย รวมถึงชาวต่างชาติได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาของชาวนาไทย ที่มีการคิดประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือชนิดต่างๆ มาใช้ในกระบวนการปลูกข้าว ตั้งแต่ขั้นตอนการไถเพื่อเตรียมดิน การหว่านข้าว การปักดำต้นกล้า การเก็บเกี่ยว การฝัดสีข้าว รวมถึงการทดน้ำเข้านา ฯ ทั้งนี้ การเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้ซึมซับคุณค่าของข้าวที่มีต่อชีวิตและวัฒนธรรมของไทย
จากนั้น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวเปิดงานนิทรรศการว่า การจุดประกายความคิดของคนไทยเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปราศจากความคิดสร้างสรรค์ ประเทศก็จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต้องจมปรักอยู่กับวิธีการพัฒนาประเทศ วิธีการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิต พัฒนาความรู้ในรูปแบบเดิมๆ ดังนั้น จึงต้องมีการวิวัฒน์ ปฏิวัติวิธีการเรียนรู้ของคนไทย เพื่อให้เรียนรู้อย่างสนุก ไม่ใช่ท่องจำหรือไปเรียนกวดวิชาอย่างเช่นทุกวันนี้
“การสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่จะต้องมีการปรับปรุงวิธีการ พยายามจัดหาองค์ความรู้เพิ่มอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน จะต้องนำความรู้ดังกล่าวไปสรุปให้มีความน่าสนใจ น่าจดจำ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปคิดต่อยอดได้ว่า จะทำสิ่งใดให้กับบ้านเมือง สังคมได้บ้างจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทย”
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับนิทรรศการครั้งนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ‘ข้าว’ ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นจิตวิญญาณของคนไทย สังคมไทยที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน อีกทั้งการพัฒนาข้าว ก็ทำให้เกิดรายได้จากการส่งออก ซึ่งส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย
ขณะที่นายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา กล่าวถึงกรณีที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากหันหลังให้กับภาคการเกษตรว่า เป็นผลสืบเนื่องจากที่ครอบครัว พ่อแม่ทำการเกษตรและไม่ประสบความสำเร็จ มีหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้น รุ่นพ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ลูกเห็นว่า ทำเกษตรอย่างไรถึงไม่ขาดทุน โดยเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนทัศนคติ หันมาทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เนื่องจากมีต้นทุนสูง ขณะเดียวกัน จะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตรเพื่อทุ่นแรง และท้ายที่สุด วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น
เมื่อถามถึงนโยบายชดเชยราคาปุ๋ยของรัฐบาล นายชัยพร กล่าวว่า ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะสิ่งที่รัฐบาลควรจะดำเนินการคือ การให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำเกษตรที่เหมาะสม เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น