นักมานุษยวิทยา เผย กระแสชาตินิยม-ความทันสมัย ทำ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ ไม่คืบ
ดร.นฤมล ลั่น 'วัฒนธรรม' ไม่ใช่แค่รำไทย ช้างไทย ศาลาไทย แต่ต้องกินความถึงความแตกต่าง-หลากหลายทางวัฒนธรรม
วันที่ 28 เมษายน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) จัดเสวนา ‘นักมานุษยวิทยามองสังคมไทยร่วมสมัย’ หัวข้อ ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษกับศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์’ ณ ห้องประชุม 207 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) โดยมี ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
ดร.นฤมล กล่าวว่า ‘ชาวเล’ ทั้งกลุ่มมอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล ประมาณ 10,000 คน กำลังประสบปัญหาการไร้รัฐ ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ถูกกีดกันในการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งไม่สามารถทำมาหากินได้ ขณะเดียวกันยังถูกดูแคลนจากผู้ที่ไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมแบบชาวเลอีกด้วย
“การแก้ปัญหาดังกล่าว จึงควรใช้แนวคิดเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่และความเข้มแข็งของชุมชนพื้นเมือง โดยการคุ้มครองพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรม การศึกษาเรียนรู้ เช่น การมีหลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ”
ส่วนแนวทางการดำเนินงานนั้น ดร.นฤมล กล่าวว่า การจะจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเลไม่ควรดำเนินการในลักษณะสูตรตายตัว แต่จะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมของแต่ละชุมชน เนื่องจากการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ จึงควรเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน แต่ทั้งนี้ จะต้องป้องกันการครอบงำด้านความคิดจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มุ่งแสวงกำไร และนำวัฒนธรรมไปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงพาณิชย์
“การดำเนินการทุกรูปแบบจะต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง โดยจะต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์และความเฉพาะของพื้นที่ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนขยายผลต่อไป” ดร.นฤมล กล่าว และว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีเจ้าภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานประจำที่ดูแลด้านชนพื้นเมืองโดยตรง มีแต่เพียงหน่วยงานเล็กๆ ในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้นที่ดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหากกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาจับและดูแลเพิ่มเติม โดยใช้แนวคิดว่าวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่รำไทย ช้างไทย ศาลาไทย จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สะท้อนว่า เราเห็นประโยชน์ของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม”
ขณะที่ ดร.ขวัญชีวัน กล่าวถึงปัญหากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง อย่างกะเหรี่ยงว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเกิดการสูญเสีย ทั้งความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ภูมิปัญญาดั้งเดิม ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมและภาษา ทั้งนี้ การกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา ก็เพื่อกำหนดพื้นที่บริหารจัดการและการดำเนินการแบบพิเศษในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟูวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 ได้มีการเลือกพื้นที่ 4 แห่งของชุมชนกะเหรี่ยง ได้แก่ บ้านหินลาดใน พื้นที่การทำไร่หมุนเวียน ตำบลไล่โว่ พื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) และบ้านไล่ถ่องคุ เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ยังมีปัญหาอีกมากในการดำเนินงาน เนื่องจากไม่สามารถต้านทานกระแสชาตินิยมและความทันสมัยได้
ดร.ขวัญชีวัน กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้คำว่า ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ อาจมีกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วน แต่การกำหนดเขตดังกล่าว เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่จำเป็นต้องจุดประเด็นขึ้นมาเสียก่อน ไม่เช่นนั้น อาจไม่ทันการณ์ต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ