รมว.ศธ แจง 4 ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสร้างความเป็น ‘พลเมือง’
นายกฯ เปิดงานรวมพลังสร้างความเป็นพลเมือง ลั่นอย่าคาดหวังรบ. แก้ปัญหาได้ทั้งหมด ชี้ปชช. ต้องมีส่วนร่วม ‘ชินวรณ์’ หวังแวดวงการศึกษารับยุทธศาสตร์สร้างความเป็นพลเมืองไปปฏิบัติ ‘ธงทอง’ ย้ำอย่ารอพรรคการเมืองมาแก้ให้
วันที่ 22 เมษายน คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) จัดโครงการ “รวมพลังสร้างความเป็นพลเมือง” ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพฯ เพื่อปลูกฝังความเป็นพลเมืองของหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัด ศธ. กรุงเทพมหานครและสถาบันพระปกเกล้า โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และประธาน กนป. กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองกับการปฏิรูปประเทศไทย”
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวมพลังสร้างความเป็นพลเมือง เป็นนโยบายของ กนป. และเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 รวมทั้งเป็นการวางรากฐานที่ดีในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้เยาวชนสำนึกถึงความเป็นพลเมือง เพื่อประโยชน์ของตนเอง สังคม ประเทศตลอดจนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
"การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ต้องมุ่งไปที่ผล ซึ่งมีบทสรุปที่ชัดเจนว่า สภาพความเป็นจริงของสังคมที่สะท้อนผ่านตัวเลข บ่งชี้ว่าสภาพสังคมยังมีส่วนใดที่ต้องแก้บ้าง ที่ผ่านมาสังคมมักจะคาดหวังให้รัฐบาลกลางเป็นผู้แก้ปัญหาของประเทศ แต่ผมมองว่า หากคาดหวังอย่างนั้นคงเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่จะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด คือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างมากในการแก้นโยบายดีๆ จะเกิดขึ้นได้ประชาชนต้องร่วมกันผลักดัน"
ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กนป. ได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการ กนป. โดยมี ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ร่วมอยู่ด้วย
“การตั้งอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เพื่อพัฒนาการสร้างความเป็นพลเมืองดี ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ. 2553 - 2561 ได้แก่ 1. การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชน 2. การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชน เช่น สร้างหลักสูตรชุมชนประชาธิปไตย 3. การสร้างพลเมืองในวงกว้างและการสร้างความตระหนักในสังคมโดยใช้สื่อมวลชน สร้างสื่อที่หลากหลายและเข้าถึงทั่วประเทศ และ 4. การเชื่อมประสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาควรจะนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทย”
ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ความเป็นพลเมือง มีความหมายและความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความเป็นไปของประเทศไทยในอนาคต ปัญหาของสังคมเราทุกวันนี้จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการสร้างความเป็นพลเมือง ไม่ใช่รอให้อัศวินขี่ม้าขาว หรือพรรคการเมืองใดมาแก้ให้
“ไม่เฉพาะคนในวัยเรียน หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ผู้ใหญ่และทุกคนในชุมชนต้องตระหนักรู้ด้วย รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะเป็นอีกแรงสำคัญในการเร่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เร็วยิ่งขึ้น สร้างให้เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะลำพังการมีวิชาเปิดสอนหลักสูตรหน้าที่พลเมือง ไม่สำคัญเทียบเท่าการสร้างความเป็นพลเมือง
ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานในแวดวงการศึกษาทั้งหลายล้วนเห็นพ้อง และตระหนักสำคัญถึงความเป็นพลเมืองด้วย โดยที่สภาการศึกษาจะร่วมกับองค์กรทั้งหลายปรับบทบาทหน้าที่ที่ไม่ใช่แค่สั่งการ แต่ต้องเกิดขึ้นจากหัวใจที่จะงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง
ส่วนผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ความเป็นพลเมือง ไม่ใช้แค่การมีส่วนร่วม หรือตื่นตัวในปัญหาบ้านเมืองโดยไม่เคารพสิทธิผู้อื่นเท่านั้น แต่จะต้องเคารพกติกากันด้วย “พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” คือ ระบอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย แต่ปัญหาคือทุกคนเป็นเจ้าของ จึงอยู่ร่วมกันได้ยาก ฉะนั้น ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ทุกคนต้องตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่ง และคนอื่นก็เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ เราไม่ได้พยายามให้คนคิดเหมือนกัน แต่ต้องให้อยู่ร่วมกันให้ได้
“ความเป็นพลเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นวิถีทางของประชาธิปไตยที่ต้องใช้กติกา และไม่ใช้กำลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ดังนั้น ความเป็นพลเมืองจึงต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่สภาการศึกษาได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย