“สุวิทย์”เปิดข้อมูล ศูนย์กลางแผ่นดินไหวขยับใกล้ไทยมากขึ้น
แนะเผยแพร่ความรู้ให้กับ ปชช. ต้องเริ่มตั้งแต่รั้วโรงเรียน ด้านอาจารย์วิศวกรรมโยธา เปรียบผิวดิน กทม.เหมือนเสาอากาศรับสัญญาณแผ่นดินไหว แรงสั่นต่อเนื่อง อาจกระทบต่อโครงสร้างอาคารได้
วันที่ 30 มีนาคม กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานประชาสัมพันธ์เรื่อง “คนไทยจะอยู่กับธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นสุขได้อย่างไร?” ณ ห้องประชุมใหญ่ กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คนไทยจะอยู่กับธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นสุขได้อย่างไร?”
นายสุวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธรรมชาติจำเป็นต้องปรับสมดุล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้คนไทยอยู่อย่างเป็นสุขกับธรณีพิบัติภัยได้ขึ้นอยู่กับความไม่ประมาทและมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า การรับมือภัยพิบัติของไทย 1.สาธารณชนไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรณีพิบัติ แผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวเท่าที่ควร 2.ไม่มีระบบเตือนภัย และ3.ไม่มีแผนงานในการรับมือภัยพิบัติสำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย
นายสุวิทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขยับเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดในประเทศพม่าขนาด 6.7 ริกเตอร์ นอกจากพื้นที่ในภาคเหนือจะได้รับแรงสั่นสะเทือนแล้ว กรุงเทพฯ ยังรับแรงสั่นสะเทือนอีกด้วย ทั้งนี้ หากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนแม่จัน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่ในกรุงเทพต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งจากการคาดการณ์ความแรงอาจอยู่ในระดับที่ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างสามารถพังทลายได้ ฉะนั้น จึงต้องสร้างกระบวนการป้องกัน บรรเทาผลกระทบ โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการ
รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้เสนอมาตราการด้านภัยพิบัติ 5 ข้อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.เสนอให้หน่วยงานด้านการก่อสร้างอาคารเข้าดูแลโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งหามาตรการซ่อมแซม เพื่อเตรียมการป้องกันแผ่นดินไหว 2.เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพิบัติภัยให้กับสาธารณชน รวมทั้งในสถานศึกษา 3.ให้พื้นที่เสี่ยงภัยดำเนินการซักซ้อมรับมือภัยพิบัติ 4.ปรับปรุงระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับสถานการณ์ได้ และ 5.ให้แต่ละท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ รับผิดชอบด้านการเตือนภัยและบรรเทาภัย เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ
"ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารืออีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ทางกรมทรัพยากรธรณีเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้”
ขณะที่ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงลักษณะดินที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างวิศวกรรม เนื่องจากแรงแผ่นดินไหว ว่า ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อโครงสร้างทางวิศวกรรม คือ การสั่นสะเทือนและเคลื่อนแตกของแผ่นดิน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้อาคาร 1.เกิดการทรุดตัว 2.การบิดตัวของอาคาร 3.การพิบัติของตอม่อหรือเสา โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใต้พื้นดิน 4.จังหวะการสั่นของอาคารพ้องกับจังหวะแรงกระทำแผ่นดินไหว 5.การโยกชนกันของอาคาร และ 6.โครงสร้างที่ไม่เสริมเหล็กหรือแข็งแรงไม่พอเกิดความพิบัติ แต่ทั้งนี้ ความปลอดภัยของอาคารในกรุงเทพฯ ก็ขึ้นอยู่กับความสูงของอาคารด้วย
ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า สภาพดินในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณชั้นบนสุดหรือผิวดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อน ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน โดยเฉลี่ยชั้นดินจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 6-12 เมตร ฉะนั้น ชั้นดินดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่ต่างจากเสาอากาศรับสัญญาณ เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวจึงเกิดการโยกและสั่นสะเทือน ซึ่งหากมีการสั่นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารได้
"แผ่นดินไหวยังส่งต่อเขื่อน เช่น หากมีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนใกล้ตัวเขื่อน ใต้ฐานเขื่อน แรงสั่นสะเทือนอาจทำให้เกิดน้ำไหลล้นข้ามสันเขื่อน หรือในกรณีที่มีการไหลซึมของน้ำผ่านรอยแตกของเขื่อน อาจทำให้เขื่อนแตกได้เช่นกัน"ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว และว่า หากเขื่อนออกแบบและควบคุมโดยวิศวกร ย่อมไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากการสร้างรองรับและคำนึงถึงสถานการณ์พิบัติไว้แล้ว