การศึกษาไทย 'รองเท้าเบอร์เดียว' นักวิชาการชี้ไม่ตอบโจทย์แต่ละพื้นที่
สสค. ดึงประชาชนร่วม หวังสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ใช้ ‘ภาพถ่าย’ เป็นกุญแจนำสู่การค้นคว้าไม่รู้จบ เสริมสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
วันที่ 30 มีนาคม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ Shutterism.com ประกาศผลสุดยอดภาพถ่ายเพื่อสร้าง “สังคมแห่งการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด” มุ่งเปลี่ยนชีวิตและสังคม และสร้างให้เกิดคลังภาพออนไลน์ หรือโฟโต้ แบงค์ (Photo Bank) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีผู้ได้รับรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยม 3 รางวัล จากภาพถ่ายส่งประกวดทั้งสิ้น 843 ภาพ ได้แก่ นายอาหามะ สารีมา จากภาพ พร้อมใจ,นางสาวพาซีลา แวดาย๊ะ จากภาพ ดุอา และนายวินนิวัตร ไตรตรงสัตย์ จากภาพ อนาคตสังคมแห่งชุมชน
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลโหวตโดนใจจากแฟนเพจ “เลินนิ่งแอนด์แชร์ริ่ง (Learning & Sharing)” ในเฟสบุ๊ค โดยมีผู้ร่วมโหวตมากถึง 6,266 เสียงจากสมาชิก 3,553 ท่าน ผ่านภาพถ่ายทั้งสิ้น 843 ภาพ
สำหรับการประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ นายมนตรี ศรีโอภาศ บรรณาธิการภาพนิตยสาร Nature Explorer กล่าวว่า การประกวดภาพถ่ายแบ่งหมวดหมู่ประเภทภาพถ่ายออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ 1.การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่นอกห้องเรียน 2.กิจกรรมวันหยุด 3.ศิลปวัฒนธรรม 4.กิจกรรมอาสาสมัคร 5.สิ่งแวดล้อม 6.กีฬาและนันทนาการ ซึ่งหัวข้อที่ตั้งขึ้นนั้นจะกระตุ้นให้ผู้ถ่ายภาพเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่าน การวิเคราะห์ตีโจทย์ให้แตก โดยหลักเกณฑ์ในการตัดสินมี 2 ข้อ คือ 1.ผู้ถ่ายสามารถสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการจะนำเสนอได้ตรงตามหัวข้อหรือไม่ 2.องค์ประกอบความสวยงาม ที่บอกเล่าเรื่องราวได้สอดคล้องกับหัวข้อภาพถ่าย อันจะทำให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงและกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประกวดเกิดการ เรียนรู้ที่จะสื่อสารสิ่งที่ต้องการให้คนอื่นๆ เข้าใจได้ และเมื่อวัตถุประสงค์ของการประกวดในเวทีนี้แตกต่างจากการประกวดภาพถ่ายทั่ว ไป ทำให้ภาพถ่ายที่ชนะการประกวดดูแตกต่างออกไปจากรูปแบบในเวทีอื่นๆ
ขณะที่ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า แนวคิดในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ต้องการที่จะส่งสารไปยังสังคมว่า การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น และภาพถ่ายก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความรู้แก่ผู้ถ่ายภาพและเพิ่มความรู้แก่ผู้ดูภาพได้หลายอย่าง ทั้งนี้ภาพถ่ายยังส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
“การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวง หรือเรื่องของ สสค. เท่านั้น การเรียนรู้มีอยู่ทุกที่ และที่พบส่วนมากมักอยู่นอกห้องเรียน แต่การศึกษาไทยในปัจจุบันเหมือน รองเท้าเบอร์เดียว ที่ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้อันหลากหลายของแต่ละพื้นที่ แต่ละสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้น จะต้องร่วมกันทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้”
ส่วนนายธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนและช่างภาพสารคดี หนึ่งในคณะกรรมการการตัดสินภาพถ่าย กล่าวว่า การเรียนรู้มี 2 แบบคือ จำเป็นต้องเรียนรู้ แบบที่สภาพแวดล้อมและคนรอบข้างคอยป้อนให้หรือบอกว่าต้องเรียน กับอยากที่จะเรียนรู้เอง ซึ่งภาพถ่ายนับเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลัง และมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนอยากเรียนรู้เรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่างๆ โดยจะเชื่อมโยงไปสู่ความรู้ภายใต้ภาพถ่ายนั้น
"สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านภาพถ่าย คือ จะทำให้เกิดการตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ที่จะนำไปสู่การค้นคว้าหาข้อมูล และตอบคำถาม ทำให้ภาพมีคุณค่าและมีพลังในการเรียนรู้ ช่างภาพจึงมีภารกิจสำคัญในการถ่ายภาพเพื่อนำไปสู่การแบ่งปันความรู้อันหลากหลาย และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ”