นพ.ประเวศ วอนสังคมสนใจ “กระบวนการ” มากกว่า “ประเด็น-ความสำเร็จ”
นพ.ประเวศ ชี้สมัชชาปฏิรูปมีกระบวนการที่ครบวงจร ทำงานล่วงหน้ามาเป็นเวลานาน รวมทั้งกระบวนการติดตามผล ยันกระบวนการถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องประเด็น ลั่นต่อให้มีปัญหายากอย่างไร ก็จะไปนำไปสู่การแก้ไขได้
24 มีนาคม คณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จัดงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งงที่ 1 พ.ศ.2554 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงาน
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงปัญหาพื้นฐานของชาติเอื้อให้คนส่วนน้อยเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ขาดความเป็นธรรมสำหรับอยู่ด้วยกันโดยสันติ ผู้คนจึงไม่รักกัน ไม่รักชาติ กระบวนการปฏิรูปที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม จะเข้ามาแก้ทุกข์ของชาติ ที่ผ่านมาไม่เคยประสบความสำเร็จเพราะ “สมุทัย” หรือสาเหตุแห่งความทุกข์ยังฝังลึกอยู่ในระบบและโครงสร้าง ฉะนั้นกระบวนการปฏิรูปต้องมีการใช้พลังทางปัญญาอย่างเข้มข้น เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ฉะนั้นสมัชชาปฏิรูป มีรูปแบบ และแบบแผนจำเพาะ ไม่เหมือนการประชุมอื่นๆ ไม่เหมือนสิ่งที่เรียกว่าสมัชชาในความหมายทั่วไป แต่เป็นกระบวนการที่กระทำมาอย่างยาวนาน เพื่อวินิจฉัยสมุทัย ในการนำไปสู่ผลสำเร็จ
“กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเป็นการประชุมสุดยอดทางสังคม ที่เรียกว่า Social Summit เพราะประกอบด้วยผู้แทนจากพื้นที่ทั่วประเทศ 234 องค์กร และเครือข่ายหลายพันเครือข่าย ซึ่งเป็นตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนของสังคม คำว่าสังคมในที่นี้ไม่ได้แยกส่วน แต่มาจากการรวมตัวของรัฐ ธุรกิจ การเมือง วิชาการ ประชาชน สื่อมวลชน จึงเป็นการประชุมสุดยอดทางสังคม”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงเป้าหมายเฉพาะของบุคคล กลุ่ม พรรค องค์กร สถาบัน ซึ่งต่างบั่นทอนกำลังซึ่งกันและกัน หากเมื่อใดสังคมไทยมีเป้าหมายร่วมกัน โดยในงานจะมีมติจากประชาชนที่เห็นร่วมกันประดุจแสงเลเซอร์ทางสังคม ทำให้เกิดพลังมหาศาล เช่นเดียวกันกับกระบวนการสมัชชาปฏิรูปที่ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
ปธ.สมัชชาปฏิรูป กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสมัชชาปฏิรูปเป็นเสมือน อินทรีย์ 5 พละ 5 แห่งศาสนาพุทธ อันประกอบด้วยปัจจัย 5 ประการ 1.พลังทางศีลธรรม เกิดจากการเคารพศักดิ์ศรี คุณค่า ความเป็นคนอย่างเท่าเทียม 2.เมตตาธรรม คำนึงถึงคนทั้งหมดไม่แบ่งข้าง แบ่งสี 3.พลังทางสังคคม โดยคนไทยทุกภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำ 4.พลังงทางปัญญา โดยการใช้ข้อมูล ความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ขึ้นมาเป็นปัญญาของสังคม ทำให้รู้ถึงอริยสัจ 4 และ 5.พลังทางสันติวิธี ทั้งนี้เมื่อทั้งหมดรวมตัวกัน จะเกิดพลังทางสังคมนำไปสู่สังคมนิพพาน อันหมายความว่า สงบ ร่มเย็น สันติสุข และเป็นธรรม
“ผมเน้นคำว่า กระบวนการสมัชชาปฏิรูป เพราะอยากให้คนไทยสนใจ กระบวนการ เป็นพิเศษ ที่ผ่านมาสังคมมักให้น้ำหนักแต่ ประเด็น คือการสนใจแต่ ผลสำเร็จ แต่ไม่สนใจ วิถีทางหรือแนวทาง ซึ่งสมัชชาปฏิรูปมีกระบวนการที่ครบวงจร ทำงานล่วงหน้ามาเป็นเวลานาน รวมทั้งกระบวนการติดตามผล ทั้งนี้หาก กระบวนการถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องประเด็น เพราะต่อให้มีปัญหายากอย่างไร ก็จะไปนำไปสู่การแก้ไขได้”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่ออีกว่า ขอให้คนไทยมี “ฉันทะ วิริยะ” ช่วยกันขับเคลื่อน กระบวนการสมัชชาปฏิรูปให้หมุนไปในสังคมไทย อย่างที่ไม่มีใครจะสามารถหมุนกลับได้ เสมือนเป็นธรรมจักรแห่งการปฏิรูป ที่เคลื่อนไปเพื่อสร้างความเป็นธรรม และสันติสุขในบ้านเมืองของประเทศไทย
“ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับการเมืองที่ไม่ค่อยมีพลัง จึงไปคิดว่าการปฏิรูปจะไม่มีทางสำเร็จ แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ปฏิรูปการเมืองเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่มีพรรคกรเมืองใดอยากทำ แต่ท้ายที่สุดก็ต้านทานพลังทางสังคมที่ล้อมการเมืองเอาไว้ไม่ได้”
ต่อข้อสักถามถึงการใช้งบประมาณของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ทั้ง คสป. และคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้รับงบประมาณในการขับเคลื่อนปีละ 200 ล้าน ซึ่งได้รับการตรวจสอบโดยภาครัฐเช่นกัน ความเป็นจริงนั้นไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ดังนั้นจึงมีอีกหลายองค์กร หลายหน่วยงานที่ช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการปฏิรูปเช่นเดียวกัน