สส.ปชป. โวกม.คุมม็อบ ไร้ปัญหา เชื่อคลอดทันยุบสภา
กก.ร่างฯ ยันก่อนยกร่างศึกษา รธน.-หลักสิทธิมนุษยชนสากลดีแล้ว พร้อมใช้บังคับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ชี้ตลอด 60 ปี ประเทศไทยไม่เคยสอนคนให้รู้จักหน้าที่ในการชุมนุม โฆษก สตช. ย้ำต้องการกม.เพื่อดูแลมวลชน แยกแยะคนถูกคนผิด
วันที่ 22 มีนาคม สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “การชุมนุมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตย” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี นายชาย ศรีวิกรณ์ ผู้แทนเครือข่ายรณรงค์ประชาธิปไตย ไม่ละเมิด พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสวนา
นายชาย กล่าวในมุมมองภาคเอกชน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม โดยพบว่า สังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่องการชุมนุมมากนัก นอกจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ จึงส่งผลให้เกิดความสับสนตามมา ฉะนั้น คนไทยที่รักประเทศจึงต้องหันมาร่วมมือกันมากขึ้น โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความเข้าใจ
“กลุ่มที่จำเป็นต้องเรียนรู้กติกาการชุมนุม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งหากการชุมนุมเกิดจากความเดือดร้อนและอยู่ในขอบเขต สังคมสามารถยอมรับได้ 2.เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องเข้าใจชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร 3.ประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทและแสดงออกในการสร้างสังคมให้ดีขึ้น 4.นักการเมือง จะต้องเห็นใจผู้ที่เสียภาษีมากขึ้น”
นายชาย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... นั้นพบว่า มีเอ็นจีโอส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่เฉพาะสำหรับการชุมนุม อีกทั้งหากต้องการให้การชุมนุมได้เสียง กลายเป็นข่าว จะต้องดำเนินการบางอย่าง แม้จะเป็นการละเมิดก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เข้าแก้ปัญหาให้กับผู้ชุมนุมอย่างจริงจัง
ขณะที่พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า โครงสร้างตำรวจไม่ได้ออกแบบว่า เพื่อดูแลการชุมนุมขนาดใหญ่ เนื่องจากมีกำลังเพียง 1,000 นาย อีกทั้งตำรวจบางนายก็ยังมีอายุมาก จึงต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่มาจากต่างจังหวัด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีคุณค่าต่อพื้นที่ถูกดึงตัวเข้ามาดูแลมวลชน อีกทั้งที่ผ่านมาตำรวจไม่มีกฎหมายเพียงพอสำหรับดูแลการชุมนุม
“กฎหมายการชุมนุมจะช่วยให้เจ้าหน้าที่แยกแยะความถูกผิดได้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม ประการสำคัญ เพื่อดูแลสังคมไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในเรื่องการจราจร ความปลอดภัยจากการก่อความไม่สงบ” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าว และว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นความต้องการของตำรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการในหลากหลายช่องทางแล้ว แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์
ส่วนผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดปัญหามากมายจากการชุมนุมที่เกินขอบเขต จึงจำเป็นต้องหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อทำให้การมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอยู่ในจุดที่สมดุลกัน โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย
“ประเทศไทยไม่มีกฎหมายชุมนุม แต่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีการรับรองไว้ใน มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว ก็ยังต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกติกาที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้การใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเกิดการกระทบกระทั่ง”
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงประเด็นที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ในเรื่องการแจ้งก่อนมีการชุมนุมสาธารณะนั้น หากเทียบเคียงกับต่างประเทศที่มีกฎหมายการชุมนุม และไม่มีกฎหมายกฎหมายการชุมนุม จะพบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่กฎหมายชุมนุมสาธารณะ แต่สามารถควบคุมการชุมนุมได้ ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า ไทยอาจทำเช่นนั้นได้ ส่วนในประเทศที่มีกฎหมายการชุมนุม พบว่า การชุมนุมที่จะต้องมีการอนุญาตจะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะนิยมใช้วิธีการแจ้งให้ทราบ อาทิ ประเทศเยอรมนีเกาหลีใต้ ฯ เนื่องจากเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากประเทศไทยจะนำระบบการแจ้งดังกล่าวมาใช้ ควรกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง เชื่อว่า จะเหมาะสมมากกว่า เพราะแจ้งก่อนถึง 72 ชั่วโมง ถือว่า มากเกินไป
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า เนื้อหาที่ขาดหายไปในร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... คือ ขอบเขตในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับดังกล่าวก็มีความก้าวหน้าเช่นกัน อาทิ การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะมีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกับว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะใช้บังคับได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ นั่นคือ รัฐธรรมนูญยังบังคับใช้ไม่ได้ ฉะนั้น สังคมไทยจะต้องช่วยให้มาตรา 28 บังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่นายปกรณ์ กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ฉบับดังกล่าว ได้มีการศึกษามาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการจำกัดสิทธิการชุมนุมสามารถทำได้ อีกทั้งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวก็เพื่อควบคุม ป้องกันความเสี่ยงในการชุมนุมเท่านั้น
“ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายกับการชุมนุม พบว่า ไม่เป็นผลเท่าที่ควร แม้กระทั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นที่สงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะแท้จริงแล้วกฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อต้องการสอนให้คนรู้จักหน้าที่ในการชุมนุม เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยสอนคนในเรื่องเหล่านี้ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย” นายปกรณ์ กล่าว และว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จะนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ โดยไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสี
ด้านนางรัชฎาภรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้า การพิจาณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....ว่า จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จก่อนมีการยุบสภา เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจาณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินต้นเดือนเมษายนนี้ และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ก็น่าจะใช้เวลา 1 วันในการผ่านมิติ จากนั้นจะส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการพิจารณาก่อนส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขมากนักก็สามารถทูลเกล้าฯได้ทันที