“เครือข่ายประชาธิปไตย ไม่ละเมิด” หนุนเกิดชุมนุมแบบเคารพสิทธิ
ภาควิชาการ ประชาสังคม นักธุรกิจ นักวิชาการอิสระ และผู้ได้รับความเดือดร้อน เปิดตัวเครือข่ายภาคประชาชน รณรงค์ประชาธิปไตยไม่ละเมิดร่วมผลักดัน เกิดกม. ม็อบ ‘ดร.ปริญญา’ ชี้ส่งเสริมมีประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิด สำคัญกว่ากม. จะเกิดหรือไม่
วันที่ 9 มีนาคม เครือข่ายภาคประชาชน รณรงค์ประชาธิปไตยไม่ละเมิด แถลงข่าวเปิดตัวเครือข่าย และจัดเวทีเสวนา “สังคมและการชุมนุม… จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?” ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผอ.สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กลุ่มผู้ประกอบการราชประสงค์/ประตูน้ำ/สีลม และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมเปิดตัวภาคีเครือข่ายฯ
นายชาย กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชน รณรงค์ประชาธิปไตยไม่ละเมิด ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางการเมืองในปัจจุบันได้ก้าวล่วงไปสู่การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งทรัพย์สิน ชีวิต และการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ โดยมีจุดยืน ในการผลักดันให้สังคมร่วมกันหากลไกในการทำให้การชุมนุมและสังคมไทยอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่เครือข่ายฯ ที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุม แต่เป็นการส่งเสริมการชุมนุมที่มีระเบียบและเคารพในสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น
“เครือข่ายฯ ตระหนักว่า การชุมนุมเรียกร้องในเรื่องต่างๆ เป็นการใช้สิทธิ์ในการแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าการชุมนุมไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของผู้อื่น ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการชุมนุมที่เป็นประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้ การชุมนุมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบที่เหมาะสมอาจสร้างปัญหาต่อเนื่องในหลายด้าน เช่น ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมที่อาจเกิดเหตุการณ์จากการกระทำของมือที่สาม หรือผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม”
นายชาย กล่าวด้วยว่า วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเครือข่ายฯ เพื่อผลักดันให้เกิดการวางกรอบของการชุมนุมในที่สาธารณะ ผ่าน พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ โดยที่มีการผนวกความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ฝ่ายนโยบาย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ องค์กรอิสระ เช่น กรรมการสิทธิ ภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อผลักดันให้กรอบกฎหมายในการส่งเสริม กำกับดูแลการชุมนุมเหล่านี้ มีความชัดเจนในเรื่องของสิทธิของผู้ชุมนุม วางกรอบรูปแบบอันเหมาะสม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ด้านผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การมีประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น สำคัญกว่าการผลักดันให้มี พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะ เพราะหากมีกฎหมาย แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนใช้สิทธิอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการกำหนด หรือปฏิบัติตามกติกา ก็ไม่สามารถคาดหวังว่า พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะ จะแก้ไขสถานการณ์ได้
“ประเด็นที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่จะมี พ.ร.บ. ชุมนุมในที่สาธารณะ หรือไม่ แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนเคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่จะทำให้การชุมนุมเปลี่ยนจากการก้าวล่วงสิทธิผู้อื่น มาเป็นการชุมนุมของผู้ตื่นตัว อย่างมีขอบเขต” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวและว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สีใดล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่หากผู้ใดคำนึงแต่สิทธิตนเอง และละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็จะเป็นฝ่ายผิด ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยไทย