ส.ศิวรักษ์ ตรวจอาการสังคมไทยอยู่ในภาวะสับสน-ตึงเครียด
"สุลักษณ์ ศิวรักษ์" ปาฐกถาในหัวข้อ “40 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง : มองไปข้างหลัง – แลไปข้างหน้า” ฉะสังคมไทยอยู่ในภาวะสับสน ตึงเครียด ในหลายต่อหลายกรณี ไม่ได้มีแต่เสื้อเหลือง-เสื้อแดงเท่านั้น
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2554 ครั้งที่ 37 ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการประกาศบุคคลเกียรติยศ ประจำปี 2554 ทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่ นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้เรียกร้อง และช่วยเหลือเพื่อคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ, รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งระดับวิชาการ และสังคม, นายสุรพล จรรยานุกูล ผู้เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันการศึกษา และ ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์ ผู้ปลูกฝังและรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านชี้ผลกระทบจากนโยบายรัฐ
นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดเสวนาชาวบ้าน ในหัวข้อ “ผลกระทบจากนโยบายรัฐ กับแผนพัฒนาประเทศ” โดยมี พ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา ที่ปรึกษาเครือข่าย กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ตัวแทนกลุ่มรักท้องถิ่น บ่อนอก และนายอุทัย สะอาดชอบ เครือข่ายป่า สมัชชาคนจน ร่วมเสวนา
พ่อหลวงจอนิ กล่าวถึงกฎหมายป่าไม้ ทำให้ชาวบ้าน ถูกกล่าวหาว่า ทำความผิดในกรณีทำให้โลกร้อน จากการทำไร่หมุนเวียน ทั้งที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศ ยานพาหนะ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สร้างมลพิษอย่างคนในเมือง ขณะที่ชาวนาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยีอย่างไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งต้องต่อกรกับกลุ่มนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ทำเหมือง โดยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากภาครัฐทั้งส่วนท้องถิ่น และส่วนกลาง ทำให้ชาวบ้านต้องเดินหน้าเรียกร้องเพื่อวิถีทำกินด้วยตนเองอย่างทุกวันนี้
“พวกชาวนา ชาวบ้าน หมดความเชื่อถือใน ส.ส.-ส.ว.นานแล้ว การเรียกร้องที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า หลายรัฐบาลมีมตินำเรื่องของเราเข้าสู่ ครม. แต่ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะมีแต่มติ ไม่มีคนรับไปปฏิบัติอย่างจริงจัง”
ด้านนางกรณ์อุมา กล่าวว่า นโยบายของรัฐในการจะพัฒนาทรัพยากรของประเทศ เป็นเพียงนโยบายกระดาษที่ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งของประเทศ โดยไม่ได้ถามความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการหรือไม่ ทั้งยังมีการอวดอ้างขายนโยบายว่าเพื่อสร้างงานให้ชุมชน และนำความเจริญมาสู่ประเทศ
“อย่างกรณีการต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 โดยขยายเครือข่ายการต่อสู้เติบโตไปเรื่อยๆ ตามแผนพัฒนาของรัฐ ซึ่งแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าบ่อนอกของรัฐเป็นเพียงจิกซอว์ตัวเล็กๆ ในโครงการแผนพัฒนาทั่วประเทศเท่านั้น” นางกรณ์อุมา กล่าว และว่า กรณีแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่จังหวัดระยอง เป็นตัวอย่างนโยบายของรัฐที่อ้างว่าเพื่อการพัฒนา แต่แท้ที่จริงเป็นการเป็นการยึดพื้นที่ของชุมชน โดยการบีบให้คนท้องถิ่นที่แท้จริงอพยพออกไปเป็นคนจนเมือง เป็นสัมภเวสีไม่มีที่อาศัย และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปฏิเสธนโยบายของรัฐ ปฏิเสธการพัฒนาที่ไม่ใช่การพัฒนาอย่างแท้จริง
นางกรณ์อุมา กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เคยแหงนหาอัศวินขี่ม้าขาว สจ.ส.ส. สว. หรือผู้นำท้องถิ่นที่ไหนให้มาช่วย แต่จะยึดโยงกันโดยการสร้างเครือข่าย มองพลังของประชาชนที่เดือดร้อนด้วยกันเอง ที่จะเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนแปลง ต่อต้านการล่าอาณานิคมแบบใหม่ ที่เอาเศรษฐกิจเป็นเหยื่อล่อ เพราะที่ผ่านมาการที่เราเป็นเด็กดีของรัฐ เป็นคนของรัฐมาตลอดสอนให้รู้ว่า ไม่ได้อะไรกลับมา และแม้การต่อสู้ที่ผ่านมาจะมองไม่เห็นชัยชนะ แต่ถือเป็นการสะสมแต้มในการรู้เท่าทันแผนพัฒนาต่างๆ ของรัฐ
สำหรับนายอุทัย กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่อำเภอตราพญา จังหวัดสระแก้วว่า เกิดจากการที่รัฐต้องการเอาพื้นที่ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และอพยพชาวบ้านออก ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ และต้องการการแก้ปัญหาที่ชัดเจน จึงใช้วิธีต่อสู้ด้วยการชุมนุม และการเรียกร้องต่อสู้ที่ยาวนาน ด้วยการรวมพลังชาวบ้านด้วยกันเอง ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม ให้ทุกคนได้รับรู้ รับข้อมูล แต่สุดท้ายการดำเนินการก็ยังอยู่ที่ภาครัฐ
“ถ้าขับชาวบ้านออกจากที่ดิน ก็เท่ากับแย่งหม้อข้าวเราไป นี่เป็นอีกมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้อง เพราะคนที่ทำงานตามหน้าที่จริงๆ ไม่ได้ใส่ใจการแก้ปัญหาให้ประชาชนเลย ต่างกับคนที่ไม่ได้มีตำแหน่งโดยตรงที่ทำงานเพื่อชาวบ้านมากกว่า ไม่รู้ว่าการต่อสู้จะมองเห็นชัยชนะหรือไม่ แต่ย่อมดีกว่าการมีชีวิตอยู่เพื่อหมุนไปตามกระแสที่คงไม่มีความสุขอะไร”
ส.ศิวรักษ์ จวกโครงสร้างสังคมไทยกดขี่เป็นชั้นๆ
ช่วงท้ายนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกถาในหัวข้อ “40 ปี มูลนิธิโกมลคีมทอง : มองไปข้างหลัง – แลไปข้างหน้า” ตอนหนึ่งถึงสังคมไทยปัจจุบันว่า อยู่ในภาวะสับสนและตึงเครียด ในหลายต่อหลายกรณีไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่อ่อนเปลี้ย เพราะรับระบบทุนนิยมเข้ามาเต็มตัว ในขณะที่โครงสร้างทางสังคมยังเป็นไปในลักษณะที่กดขี่ข่มเหงไล่ลงไปเป็นชั้นๆ จากบนลงล่าง รวมทั้งคนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง
“พรรคการเมือง ส่วนใหญ่ยังคิดว่าประชาชนซื้อได้ ซึ่งถ้าจะมีพรรคการเมืองใหม่ ที่ไม่สนใจในระบบการเมืองของชนชั้นนำ เชื่อว่า พรรคดังกล่าวก็จะเข้าตาคนในท้องถิ่น แต่ต้องไม่ใช่ไปปลุกระดม สั่งสอน แต่ควรไปเรียนรู้ ไปเป็นกัลยาณมิตร หาทางรวมตัวกัน เพื่อหาทางไปสังคมประชาธรรม”
นายสุลักษณ์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาระดับประเทศปัจจุบัน เป็นไปได้ยาก ด้วยมีอภิมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง มีบริษัทข้ามชาติเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ พร้อมมองเรื่องการมาถกเถียงกันเรื่องพรมแดนนั้น หมดสมัยไปนานแล้ว เพราะโลกาภิวัตน์ หมายถึงพรมแดนที่หมดความสำคัญ โลกเปลี่ยนไปด้วยการขาดพรมแดนเหล่านั้น