‘สุรชาติ – ธงชัย’ จับมือชี้ช่องหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ฝ่าวิกฤตไทย-เขมร
ดร.สุรชาติ ฉะสังคมไทยใช้จินตนาการร่วมสมัย ไปตัดสินอดีต พร้อมเสนอมุมคิดแก้วิกฤตมองกัมพูชาเป็นญาติผู้ใหญ่ของวัฒนธรรม เลิกทะเลาะเรื่องเขตแดน ช่วยกันเปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ขณะที่ศ.ดร.ธงชัย ยันวิกฤตชายแดน เป็น “โรค” ของอาการจากปัญหาการเมืองไทยเอง
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ "รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1" หัวข้อ "ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร" ณ ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวถึงการเรียนประวัติศาสตร์ไทย และผลพวงจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ได้ช่วยทำให้คนไทยเข้าใจบางเรื่อง ยิ่งบางเรื่องไม่ชัดเจนก็ไม่รู้อีก ที่สำคัญคนไทยในยุคลืมไปแล้วว่า ปราสาทเขาพระวิหารนั้นถูกตัดสินแล้ว จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี 2505 และคนยุคหลังยังเชื่อว่า ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย โดยไม่คำนึงมติจากศาลโลก
“ปัญหาการจิตนาการของยุคสมัยเป็นเรื่องใหญ่ สังคมไทยช่วงหลังเกิดจากการใช้จินตนาการร่วมสมัย ไปตัดสินอดีต ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถือกำเนิดเป็นประเทศ ในความหมายของรัฐสมัยใหม่นั้น หลัง ค.ศ.1909 เมื่อเรามีการปักปันเขตแดนชุดสุดท้ายกับอังกฤษ ทางภาคใต้ เส้นเขตแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อคิดแบบนี้ความเป็นประเทศไทยที่สมบูรณ์ จึงเกิดหลัง ค.ศ.1909 ขณะเดียวกันพม่าเกิดเป็นประเทศ หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ และถ้าเปิดพงศวดาร ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สงครามถูกเรียกว่า สงครามระหว่างเจ้ากรุงหงสาวดี กับเจ้ากรุงศรีอยุธยา ไม่เคยมีแนวคิดเรื่องเอกราช หรือแนวคิดอธิปไตยแห่งรัฐ เพราะความเป็นรัฐยังไม่เกิดขึ้น”
เสียกรุงไม่ใช่เสียเอกราช
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวิธีคิดคนละชุด และเมื่อไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐเอกราช ไม่มีการอธิบายการสูญเสียอธิปไตยแห่งรัฐ ฉะนั้นการเสียกรุงไม่ใช่การเสียเอกราช เมื่อคิดแบบนี้ได้ จะไม่มีเหตุผลอันใดต้องไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นไม่ควรเอาภพเดิม อย่าเอาอดีตไปกำหนดผลประโยชน์ของชาติในยุคปัจจุบัน ต้องตัดสินปัจจุบันด้วยปัจจุบัน
“ปัญหากัมพูชายิ่งซับซ้อนใหญ่ วันนี้ต้องคิดอีกมุม กัมพูชาเป็นญาติผู้ใหญ่ของวัฒนธรรมสยาม สยามเป็นเพียงฉบับถ่ายสำเนาชุดย่อ ของกัมพูชา เช่น จังหวัดอยุธยา มีอำเภอ นครหลวง อยู่นอกตัวเกาะอยุธยา หรือสมัยรัชกาลที่ 4 มีการจำลองนครวัดไว้ในวัดพระแก้ว ” รศ.ดร.สุรชาติ กล่าว และว่า สภาพทางวัฒนธรรมที่มีความทับซ้อนกัน แม้ว่าเส้นเขตแดนจะเป็นเส้นแบ่งเขตอธิปไตยก็จริง แต่ในชีวิตของผู้คน โจทย์ที่ต้องคิดต่อ คือ ไม่เกิน 4 ปี ความเป็นอาเซียนเกิดขึ้น อาเซียนจะเหมือนสหภาพยุโรปมากขึ้น เส้นเขตแดนจะลดความสำคัญลง ดังนั้น ควรเปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งหากคิดอยู่ร่วมกันแบบนี้ได้ ก็จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่หากคิดไม่ได้ เราก็จะย้อนกลับไปสู่ยุโรปยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทะเลาะกันเรื่องเส้นเขตแดน
อุดมการณ์ ชาตินิยมกับการเสียดินแดน
ส่วนศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงฐานและสาเหตุความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ที่ปะทุขึ้นมา มาจากอุดมการณ์ ชาตินิยมกับการเสียดินแดน เช่น ข้อมูลการเสียดินแดน 14 ครั้ง ซึ่งที่ไม่มีหลักฐานมายืนยัน แต่กรณีนี้กลับไปสอดคล้องกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่แล้ว ความคิดการเสียดินแดน เป็นส่วนหนึ่งของชาตินิยมในหลายประเทศแถบเอเชีย โดยชาตินิยมก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากลัทธิความเชื่อ หลายประเทศเกิดมาโดยรัฐถูกทำให้ระอาอย่างแสนสาหัส ถูกรังแก
“หลายประเทศเกิดมา ด้วยการประกาศว่า ตัวเองถูกรังแกอย่างแสนสาหัส เช่น อะเจ๊ะ จีน เกาหลี ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการประจาน แต่ใช้เพื่อปลุกเร้าชาตินิยมในประเทศ ของไทยก็มีการเสียดินแดน”ศ.ดร.ธงชัย กล่าว และว่า เราเรียนมาแต่เด็ก ไทยเป็นชาติที่น่าภูมิใจไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่มีอีกด้านของเหรียญเดียวกัน เราถูกรังแก เราเสียดินแดน และให้เราโกรธแค้นตลอดเวลา ดังนั้น ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ที่ยังหาข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์เด่นชัดเด็ดขาดไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยเลือกเชื่อมาร้อยกว่าปี ว่า ไม่เสียดินแดน และยากที่จะสลัดออกไปได้
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.วิสคอนซิน-เมดิสันฯ กล่าวว่า ลัทธิเสียดินแดนค้ำจุนความเป็นไทยไว้อย่างสำคัญ และความภูมิใจว่า เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ก็อยู่คู่กับความเจ็บปวดของการถูกรังแก ดังนั้นความเป็นไทยและชาตินิยมไทย จึงถือกำเนิดมาพร้อมกับความรู้สึกเราถูกคุกคาม ถูกรังแก จนแยกกันไม่ออก
“ชาติไทยกับการถูกรังแก ถือกำเนิดมาด้วยกัน ความเจ็บปวดเรื่องการเสียดินแดน เป็นความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯ เพราะสมัยก่อนพูดเรื่องการเสียดินแดน คือการเสียพระเกียรติยศ ไม่ใช่การเสียตัวดินแดน เนื่องจากดินแดน ไปๆ มาๆ หยุดที่จะเสียไปได้มา ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 กลายเป็นมาตรฐานโลก เรียกว่า ระบบอธิปไตยเหนือดินแดน”
สำหรับระบบอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งด้านดินแดนต่อมา จนค่อนข้างยุติในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งก่อนนั้นมีการแย่งไปแย่งมาจนเป็นเรื่องปกติ เป็นเมืองขึ้น ประเทศราช แต่เรากลับใช้ทัศนะปัจจุบันที่คิดว่า ระบบอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นมาช้านานแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ทั้งๆ อธิปไตยเหนือดินแดน มีอายุประมาณ 100 ปี
“ระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ ภาษาทางการ คือ ระบอบประเทศราช ระบบเมืองหลวง หรือเมืองขึ้น หรือไม่เป็นทางการ เป็น "รัฐแบบเจ้าพ่อ" ไม่ได้ตามตัวด้วยระบบอธิปไตยเหนือดินแดน แต่จะยืดๆ หดๆ ตามอำนาจของเจ้าพ่อ แต่ละคน แต่ละนัยยะที่ไม่เหมือนกัน เราเสียกรุงครั้งที่ 1 และ 2 ก็ไม่ได้หมายความว่า เรากลายเป็นอาณานิคมของพม่า แบบที่คิดอย่างปัจจุบันตามระบอบอธิปไตยเหนือดินแดน”
เขตแดนเป็นเรื่องเทคนิค ปล่อยเจ้าหน้าที่จัดการ
สำหรับการตีเส้นเขตแดน ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ชาติไทยทั้งชาติ มีเส้นเขตแดน เพราะมีมรดกของยุคอาณานิคม เส้นเขตแดนรอบประเทศไทย มีปัญหาตลอด ทุกจุด เพราะพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้ เข้ากันไม่ได้กับระบอบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแบบโบราณ มีจุดวัฒนธรรมที่ไม่ลงตัว
“ที่คิดว่าจะใช้เส้นเขตแดนทางภูมิศาสตร์แล้วจะหมดปัญหา ขอให้ใช้สามัญสำนึก สภาพทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนหรือไม่ ทั้งล่องน้ำลึก ดอนทราย สันปันน้ำ และทำไมสันปันน้ำ ไม่มีที่ไหนในโลก บอกให้สันปันน้ำ เป็นเส้นเขตแดนที่สิ้นสุด เพราะสันปันน้ำเปลี่ยนได้ นี่เอง การตกลงในสนธิสัญญาที่บอกให้สันปันน้ำ จึงต้องตามมาด้วยแผนที่ทุกแห่ง มิเช่นนั้น เขตแดนไม่ยุติ แม้ว่า แผนที่นั้นจะดีจะชั่ว จะมีเส้นขี้โกง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสันปันน้ำ ในอนุสัญญาไม่ใช่ เป็นตัวบอกเส้นเขตแดน” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว และว่า เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องเทคนิค อยากคิดจะรบ รบได้รอบประเทศไทย แต่หากไม่อยากรบควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคจัดการ แล้วพรมแดนไหนตัดสินใจไม่ได้ ให้รัฐบาลที่มีสัมพันธ์ดีต่อกันจัดการแทน
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.วิสคอนซิน-เมดิสันฯ กล่าวถึงวิกฤตการณ์ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาไทย กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องเขตแดน แต่เป็น “โรค” ของอาการจากปัญหาอื่น คือ โรคที่เกิดจากการเมืองไทย มีรากปัญหามาจากการเมืองไทยเอง มีปัจจัย 2 อย่างขัดแย้งกัน เมื่อเศรษฐกิจ สังคมไทย และภาคชนบท เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งคนไทยชนชั้นนำไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยโชคร้ายที่ปล่อยให้ปัญหาหมักหมม เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน กลับฉุดกระชากลากถูกประเทศได้
“ปัญหาหมักหมม จนไม่สามารถแก้ปัญหาทุกจุด หรือในเวลาเดียวกันได้ คณะกรรมการปฏิรูป ที่พยายามดันปัญหาทุกปัญหา กลับยกเว้นโครงการการเมือง วิกฤตการเมือง ทั้งๆที่สำคัญ แต่กลับไม่แตะเลย” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว และว่า ดังนั้นทางออก คือ ต้องปรับระบบการเมือง ประนีประนอมกับคนเสื้อแดง และทำโรดแมปทำอย่างไรยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเปิดประตูให้การเถียงและความไม่พอใจสามารถลงมาอยู่ในที่ทางที่เราจะมีวิธีจัดการกันได้ ซึ่งเชื่อว่า เสียงที่มีเหตุมีผลจะชนะ