คนไทยเชิดชู "ในหลวง” ต้นแบบบุคคลที่มีความซื่อตรงเป็นที่ประจักษ์
สถาบันพระปกเกล้า จับมือศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม และวุฒิสภา สรุปผลการศึกษาโครงการ “การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทย”
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมและคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา สรุปผลการศึกษาโครงการ “การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทย” ณ ห้องศักดิเดชน์ภูวไนย สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทยว่า จากการศึกษาเป็นเวลากว่า 10 เดือน โดยวิธีการสำรวจจากวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกันระดมความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 7 กลุ่ม ประกอบด้วยข้าราชการ นักการเมือง สื่อมวลชน เยาวชน ผู้นำชุมชน นักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายสำรวจไปทั่วทุกภูมิภาค
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นบุคคลที่มีความซื่อตรงเป็นที่ประจักษ์และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ ในงานวิจัยังแยกแยะตามกลุ่มอาชีพ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม อาทิกลุ่มนักการเมืองมีนายปรีดี พนมยงค์, นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป และกลุ่มข้าราชการ เช่น นายสืบ นาคะเสถียร, ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เป็นต้น"
ด้าน นางสาวปัทมา สูบกำปัง นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า แนวคิดเรื่องความซื่อตรงปรากฏขึ้นในประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2457 ภายใต้หัวข้อ "หลักราชการ" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่นานจะครบรอบ 100 ปี แต่ประเทศไทยกลับมานั่งค้นหาความหมาย ค้นหานิยามกันอยู่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความซื่อตรงที่อ่อนแอมากในสังคมไทย
“จากผลวิจัยพบว่า ข้อบกพร่องในสังคมไทยเกิดจากการไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่เคารพกติกาทางสังคม ในขณะที่ระดับสถาบัน องค์กรขาดผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงไม่มีกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ที่สำคัญคือขาดการบูรณาการถึงกันทุกภาคส่วน จนไม่อาจทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้”
ขณะที่ด้านยุทศาสตร์ความซื่อตรงนั้น นางสาวสุธิดา แสงเพชร นักวิจัยสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากที่คณะผู้วิจัยได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ได้ข้อสรุปวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า “เราจะก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อตรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วนของสังคม สามารถตรวจสอบได้ ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีจิตสำนึก ค่านิยมที่มีมาตรฐานความซื่อตรงสูง ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก"
ทั้งนี้ แผนความซื่อตรงดังกล่าวประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ 9 ประการ ซึ่งโดยสรุปแล้วคือการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพให้แก่บุคคล องค์กร และสถาบันทุกภาคส่วน โดยคณะผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลโดยภาพรวมว่า ต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความซื่อตรงให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อน และกำหนดเป็นแนวนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลโดยเร็ว รวมถึงการมอบหมายให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการพัฒนา แผนความซื่อตรงแห่งชาติ และติดตามการปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันกับองค์กรที่มีภารกิจด้านนี้อยู่แล้ว