ชาญวิทย์ เสนอใช้มรดกโลกข้ามเขตแดนอาเซียน แก้ปัญหาขัดแย้งไทย-กัมพูชา
“ชาญ วิทย์ เกษตรศิริ” ชง ตั้งมรดกโลกข้ามพรมแดน เอาอย่าง ‘อีกวาซู’ แนะ ไทย–กัมพูชา เจรจาระดับทวิภาคี ปฏิเสธวิถีรุนแรง ตัดวงจรปฏิวัติ รัฐประหาร
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำการสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 “สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร” ณ ห้องประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างพรมแดน กรณีปราสาทเขาพระวิหารว่า สถานการณ์ความขัดแย้งยกระดับไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งขณะนี้มีแนวความคิดในการแก้ปัญหาระยะสั้น 3 แนวทาง คือ 1.การปรึกษาหารือและการเจรจาโดยสันติวิธี ในรูปทวิภาคี จากคณะผู้แทนฝ่ายกัมพูชาและไทย ตามแนวทางของ “บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา...” หรือ MOU พ.ศ. 2543 2.นำปัญหาข้อพิพาท ทั้งเขตแดนทางบกและทางทะเลกลับไปขึ้นศาลโลก และ 3.สั่งกองกำลังทั้งบก เรือ อากาศ ทำสงครามสั่งสอน
“เชื่อว่าทุกคนจะเลือกข้อ 1 เพราะวิธีการเจรจา นับเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และเชื่อว่าประชาชนชาวไทย จะมีสติและวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเลือกแนวทางดังกล่าว เพราะหากนำปัญหากลับไปขึ้นศาลโลกอีกครั้ง ก็ไม่ต่างจากการหลงละเมอกับ ‘การสงวนสิทธิ์’ ขณะที่แนวทางการใช้ความรุนแรง สงคราม นับเป็นการขัดต่อหลักอหิงสา ศีลธรรม และจริยธรรมของสากลโลก อีกทั้งยังเป็นวิธีที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์”
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า หากพิจารณาดินแดนในอุษาคเนย์ พบว่า มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ ทั้งป่า เขา พืช สัตว์ ครอบคลุมอาณาบริเวณจากป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ไปตามแนวของพนมดงรัก จากปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทวัดพู เรื่อยไปถึงน้ำตกคอนพะเพ็ง แก่งหลี่ผี ณ แม่น้ำโขงตอนกลาง ฉะนั้น การจัดการพื้นที่จึงควรดำเนินการภายใต้กรอบของ 3 ประเทศหรืออาเซียน เพื่อให้ดินแดน 3 ประเทศกลายเป็น มรดกโลกข้ามเขตแดน (Trans-Boundary World Heritage Sites) เช่นเดียวกับ มรดกโลกพรมแดน ที่อีกวาซูในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล และปารากวัย ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ให้แนวคิดเชิงบวก สำหรับกรณีไทยและเขมร ที่มีมรดกโลกที่กลายเป็นปัญหาพรมแดน
จากนั้น ดร.ชาญวิทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความขัดแย้งกรณีประสาทเขาพระวิหารว่า ถูกปลุกขึ้นมา เพื่อใช้เป็นประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ ขณะเดียวกันมีความพยายามผลักดันให้มีการใช้ความรุนแรง บีบบังคับรัฐบาล ซึ่งอาจบานปลายไปสู่การปฏิวัติ รัฐประหาร แต่ทั้งนี้ การยกระดับไปสู่ความรุนแรง สร้างความเดือดร้อนและความยากลำบากให้กับประชาชนตามชายแดนอีสานใต้กว่า 10,000 ราย ถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวด้วยว่า การใช้กระแสชาตินิยมเป็นข้ออ้าง สามารถปลุกระดมผู้คนได้โดยง่าย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่พอเข้าเรียนระดับประถมศึกษา ก็เรียนเรื่องการเสียดินแดน ทั้งที่ในความเป็นจริงไทยไม่ได้เสียดินแดนแต่อย่างใด แต่ด้วยตำราเรียนกระทรวงศึกษาเช่นนี้ สร้างทัศนะคติที่เป็นลบ เป็นมายาคติที่เลวร้ายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขตำราประวัติศาสตร์ดังกล่าว