เจาะทุจริตมีปัญหาที่ระบบไม่ใช่คน 'ดร.นวลน้อย' ชี้ 15 ปีผ่านไปยังเหมือนเดิม
อาจารย์ เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยปัญหาเหลื่อมล้ำ ยากจน ทำคอร์รัปชั่นไทย 15 ปีย่ำเท้าอยู่กับที่ ซ้ำมีพัฒนาการเกิดทุจริตเพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ ชี้ต้นเหตุอยู่ที่ “ระบบ” มากกว่า “คน”
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 2 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “รู้เท่าทันการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย”
ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปถึง 2 ฉบับ หรือการจัดตั้งหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชั่น เพื่อมาตรวจสอบด้านทุจริตโดยเฉพาะ แต่การคอร์รัปชั่นยังปรากฏอยู่ในประเทศไทยในอัตราที่สูงอย่างสม่ำเสมอ เสมือน “ย่ำเท้าอยู่กับที่” ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ ในขณะที่เมื่อมีปัญหาคอร์รัปชั่น การที่จะเข้าไปแก้ไขเรื่องความยากจน และความเหลื่อมล้ำก็ทำได้ยาก เนื่องจากนักการเมืองไม่ออกนโยบายเพื่อเข้าไปแก้ไข
ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงพัฒนาการรูปแบบการคอร์รัปชั่น ว่า คอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่เกิดจากโครงการที่เป็นนโยบาย โดยมีการสร้างเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มธุรกิจของตน หรือให้มูลค่าหุ้นเพิ่มมากขึ้น เช่น การมีนโยบายที่เอื้อต่อการผูกขาด กีดกันคู่แข่งรายใหม่ การลดหย่อนภาษี BOI หรือแม้กระทั่งการลดค่าสัมปทาน ทั้งนี้แม้การคอร์รัปชั่นจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เก่าแทนใหม่” แต่เป็นการเพิ่มรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่หลากหลายมากขึ้น
คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึก การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเฉพาะของคนเลว คนโลภ แต่แท้จริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ คน แต่เป็นเรื่องของ ระบบ โดย มีปัจจัยที่มีอิทธิพลสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการคอร์รัปชั่นได้ง่าย นั่นคือการผูกขาดอำนาจ ผูกขาดเศรษฐกิจ ประกอบกับกฏระเบียบข้อบังคับไม่ชัดเจน ต้องอาศัยการตีความ ซึ่งมีช่องว่างในหาประโยชน์ได้มากมาย”
ส่วนมาตราการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ต้องอาศัยมาตรการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนร่วมกัน โดยทางสังคมต้องเข้าไปกำหนดบรรทัดฐานทางจริยธรรม การศึกษา การเฝ้าระวังสาธารณะ พร้อมทั้งสร้างค่านิยม ทัศนคติที่ต้านการคอร์รัปชั่น ในขณะที่มาตรการทางด้านกฏหมายต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และต้องทำให้การตีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่คน 10 คนสามารถตีความได้ 10 ความหมาย นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า กฏระเบียบเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล
“ส่วนมาตรการเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ต้องส่งเสริมการเปิดเสรีภาพ ลดการแทรกแซง และผูกขาดของอำนาจการตัดสินใจ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดระบบตรวจสอบโดยทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อก่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง”