TCDC จัดเทศกาลปล่อยแสง ระดมคนสร้างสรรค์ เผยที่มาแรงบันดาลใจ
ศูนย์ สร้างสรรค์งานออกแบบ จัดแสดงผลงาน “เทศกาลปล่อยแสง 100: ร้อยต้นคิด 100 ผลผลิตสร้างสรรค์” ดร. ณรงค์ชัย ย้ำชัดงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นเรื่องการนำความคิดมาทำเป็นอาชีพ เชื่อหากช่วยกันคิด-ทำ จะเป็นทางออกที่สำคัญให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดพิธีเปิดงาน “เทศกาลปล่อยแสง 100: ร้อยต้นคิด 100 ผลผลิตสร้างสรรค์” ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ - 13 มีนาคม 2554 ณ ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ โดยมีดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ประธานเปิดงาน
ดร. ณรงค์ชัย กล่าวถึงกิจกรรมการจัดแสดงผลงาน ที่รวบรวม 100 สุดยอดผลงานฝีมือไทยที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนต้นคิดในทุกแวดวงอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ไว้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนึ่งในโครงการ สร้างสรรค์สร้างอนาคต (Creative Future) ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มย่อย 1.ผู้ประกอบการคิดสร้างสรรค์ 2.เมืองสร้างสรรค์ และ3. องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องสร้างสรรค์
“เทศกาลปล่อยแสง ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ซึ่งในเมืองไทยมีผู้ประกอบการเก่งๆ เยอะมากแต่สังคมไม่รู้ว่า อะไรคือต้นเหตุให้คิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา” ดร. ณรงค์ชัย กล่าว และว่า งานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องสนุก ๆ แต่เป็นเรื่องของอาชีพ นำเอาความคิดมาทำเป็นอาชีพได้ ซึ่งหากเข้าใจตรงจุดนี้ แล้วช่วยกันคิดช่วยกันทำ เชื่อว่า จะเป็นทางเลือกทางออกที่สำคัญทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์
ด้านนายณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นชั้นนำ 1 ใน 100 คนต้นคิด นักสร้างแรงบันดาลใจ กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ว่า ก่อนที่จะสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมานั้น ต้องมองไปที่ผลผลิต วัตถุดิบ (Material) ที่เป็นจุดเริ่มต้นมากกว่านี้ เพื่อทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการแฟชั่น ดีไซเนอร์ ปัจจุบันมุ่งเน้นไปในเรื่องการออกแบบ ขณะที่เรื่อง Material ซึ่งยังมองไม่เห็นการพัฒนาด้านนี้ในประเทศไทยมากนัก ส่วนใหญ่ยังใช้ผ้า วัตถุดิบเดิมๆ จริงๆ สิ่งใกล้ตัวเราก็สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้
ขณะที่ “ศุ บุญเลี้ยง” อดีตสมาชิกวงเฉลียง กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถาบันเกี่ยวกับความคิดแล้ว ปัญหา คือ เมื่อทำงานกับความคิด ก็ต้องใช้ความคิดหนัก ซึ่งก็ต้องให้กำลังใจ และต้องทำการบ้านทุกคน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์
สุดท้าย “ทรงกลด บางยี่ขัน” บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day กล่าว ว่า คนไทย เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีน้อย ทุนน้อย อีกทั้งความขยันน้อย แต่ก็ยังมีทางแก้ มาจากการคิด คนไทยมีสมอง มีอารมณ์ขัน เชื่อว่า คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองแบบที่ไม่เหมือนใครใน โลก