800+3,000 ล้านบาท เนรมิตหรือตำน้ำพริกละลายกว๊านพะเยา
ข่าวโครงการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน งบ 800 ล้านบาท ถูกนำเสนอผ่านนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ท่ามกลางความสงสัยของสาธารณชนว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์แก่ชาวพะเยาจริงหรือ
"...คำถามที่ชวนให้สงสัยต่อมา คือ โครงการนี้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและได้ศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่นหรือไม่ เพราะพื้นที่กว๊านพะเยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานา ชาติ และมีข้อกฎหมายอีกหลายประเด็นที่ควบคุมการใช้ประโยชน์อยู่ มากไปกว่านั้นกว๊านพะเยามิได้ดำรงอยู่เพียงแค่ "น้ำ" แต่มีความสัมพันธ์กับ "คนพะเยา" ด้วย?"
โดยเฉพาะเมื่อพลิกดูตัวโครงการฯ ระยะแรก ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมกำจัดผักตบชวา 157 ล้านบาท , กิจกรรมการขุดลอกกว๊านพะเยา 150 ล้านบาท , การสร้างสมดุลของระบบนิเวศของพืช และสัตว์น้ำ 21 ล้านบาท , กิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพน้ำกว๊านพะเยา 200 ล้านบาท , กิจกรรมการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบกว๊านพะเยา 230 ล้านบาท และกิจกรรมการบริหารโครงการ 42 ล้านบาท รวม 800 ล้านบาท
จากนั้นจังหวัดจะเสนอแผนระยะยาว ซึ่งใช้งบประมาณอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อเนรมิตกว๊านพะเยาให้เป็นสวรรค์วิมานของเมืองพะเยาต่อไป
โดย ล่าสุดนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานส่งเสริมพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยพะเยา(ม.เนรศวร พะเยา)เป็นผู้ดำเนินการจัดทำข้อมูลและศึกษาผลกระทบ เพื่อรอการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
คำถามที่ชวนให้สงสัยต่อมา คือ โครงการนี้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและได้ศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่นหรือไม่ เพราะพื้นที่กว๊านพะเยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ และมีข้อกฏหมายอีกหลายประเด็นที่ควบคุมการใช้ประโยชน์อยู่ มากไปกว่านั้นกว๊านพะเยามิได้ดำรงอยู่เพียงแค่ "น้ำ" แต่มีความสัมพันธ์กับ "คนพะเยา" ด้วย
ประชาชนไปอยู่ไหน?
นายประพันธ์ เทียนวิหาร หัวหน้าศูนย์สังคมพัฒนาพะเยา กล่าวว่า การพัฒนากว๊านพะเยาที่ผ่านมาอยู่บนฐานของผลประโยชน์ของคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้าของโครงการซึ่งเป็นภาครัฐ ซึ่งนิยมเขียนโครงการเพื่อของบประมาณมาพัฒนาแบบไม่มีทิศทาง โดยอ้างผลประโยชน์โครงการทั้งหลายว่าจะเกิดกับกลุ่มประชาชนที่เป็นเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงประชาชนกลุ่มหลังนี้ไม่มีส่วนร่วมแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำอย่างแท้จริงสักครั้งเดียว
สำหรับโครงการพัฒนากว๊านพะเยาล่าสุด หน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้เสนอของบประมาณจากรัฐบาล โดยตนได้รับทราบจากข่าวทางอินเตอร์เน็ต ในขณะที่ประชาชนผู้อาศัยรอบบริเวณกว๊านพะเยาก็ยังรับรู้รับทราบข้อมูลโครงการนี้น้อยมาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จึงเกรงกลัวว่าจะทำให้เกิดปัญหาการคัดค้านในอนาคต ตนจึงได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการศึกษาผลกระทบในโครงการนี้ทั้งหมด เพื่อช่วยกันเติมเต็มโครงการให้มีความสมบูรณ์และประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย
จากการพิจารณาโครงการฯพบจุดที่น่าเป็นห่วงหลายกิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมการขุดลอกและนำดินไปสร้างถนนคู่ขนานรอบกว๊านพะเยา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเขตอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านหรือวังมัจฉา และท่าเรือที่ชุมชนใช้เป็นเส้นทางขึ้นลงกว๊านพะเยา
2.การพัฒนากว๊านพะเยา ควรมีการบริหารและจัดการตั้งแต่ป่าต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำของลุ่มน้ำอิงทั้งหมด และ ควรต่อยอดหรือตอบสนองกับความต้องการของประชาชน เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ระบบเหมืองฝาย โดยให้ท้องถิ่นเข้ามาจัดการร่วมกันอย่างแท้จริง
3.การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวนั้น ท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการก่อสร้างแล้วผลักภาระให้ท้องถิ่นดูแลซึ่งมีปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้ภูมิทัศน์เสื่อมโทรมลงไปอีก อีกทั้งไม่สอดคล้องกับวัฒนะรรมท้องถิ่น
4.กิจกรรมการกำจัดผักตบชวา ที่ใช้งบประมาณกว่าร้อยล้าน ที่ผ่านมาก็ล้มเหลว ไม่คุ้มค่า ยังตกค้างเหมือนเดิม เพราะไม่เข้าใจระบบนิเวศและไม่สามารถกำจัดให้หมดได้จริงจากกว๊านพะเยา ทำให้สูเสียค่าใช้จ่ายแบบไม่คุ้มกับที่ทุ่มงบประมาณลงไปจำนวนมาก ประชาชนรู้สึกสงสัยเรื่องนี้มาตลอด
5.การออกแบบการพัฒนากว๊านพะเยา ต้องไม่ใช่เพื่อกักเก็บน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่หากินกับกว๊านพะเยา ตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของโบราณสถานที่จมอยู่ในน้ำกว็านด้วย
จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการออกแบบเป็นโมเดลคร่าวๆ ให้ประชาชนชาวพะเยาได้ดูก่อนที่จะลงมือทำ
"ยังไงต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือต้องทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะเข้าอีหรอบเดิม คือ พัฒนาแต่แหล่งน้ำ เอาแต่ขุดลอกๆ ไม่เห็นกุ้งหอยปูปลาระบบนิเวศน์ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน ไม่เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงที่หากินกับกว๊านพะเยา" นายประพันธ์กล่าว
เสียงจากเครือข่ายชาวประมง
นายสมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา กล่าวว่า ตนได้รับทราบข่าวโครงการเบื้องต้นเมื่อสองเดือนที่แล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดที่สมบูรณ์ ล่าสุดเห็นแผนงานกิจกรรมและงบประมาณคร่าวๆ ซึ่งดูแล้วรู้สึกตกใจ เป็นห่วงและกังวลหลายประเด็น โดยเฉพาะการขุดลอกและกำจัดผักตบชวา ที่ใช้งบประมาณสูง นอกจากนี้ยังจะมีการทำคันดิน กว้าง 10 เมตร เป็นถนนคู่ขนานด้านฝั่งตะวันออกยาวกว่า 14 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนที่หากินกับกว๊านพะเยาอย่างมาก ทางเครือข่ายชาวประมง 14 ชุมชนรอบกว๊านพะเยาไม่เห็นด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยาเคยเชิญเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่มีความต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เป็นเพียงการพูดถึงภาพรวมลักษณะโครงการกว้างๆ ไม่มีรายละเอียดหรือเอกสารที่สมบูรณ์แจกจ่ายและทราบว่าเป็นโครงการเร่งด่วน แม้จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเสนอโครงการพัฒนาเพิ่มเติม แต่โครงการที่ท้องถิ่นเสนอไปก็กลับไม่ถูกบรรจุ เช่น ฝาย อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง เป็นต้น
"บอกก่อนว่า เราไม่ได้ต่อต้านโครงการนี้ แต่เราขอสิทธิ์แสดงความคิดเห็นบ้างว่ากิจกรรมที่กำลังจะทำกับกว๊านพะเยานี้ต้องผ่านการรับรู้ของประชาชนทุกส่วนก่อน ไม่ใช่ขีดวงเฉพาะหน่วยงานราชการและนักวิชาการมหาวิทยาลัยไม่กี่คน"
นายจันทร์ติ๊บ เฟืองฟู เครือข่ายชาวประมงกว๊านพะเยา กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับหน่วยงานจังหวัดที่เสนอโครงการนี้ไปโดยไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน แต่อ้างประโยชน์ว่าจะเกิดกับประชาชน ทั้งที่จะมีผลกระทบจะตามมาอีกหลายด้าน และรู้สึกเสียดายงบประมาณที่จะพัฒนา หากไม่เข้าใจระบบนิเวศของกว๊านพะเยาอย่างแท้จริง เช่น การกำจัดผักตบและการขุดลอกควรคำนึงถึงช่วงฤดูกาล หรือบริเวณส่วนไหนควรขุดลอกควรกำจัด เพราะการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของหลายหน่วยงานที่ผ่านมา ผักตบก็ยังอยู่เท่าเดิม กว๊านก็ตื้นเขินเหมือนเดิม แต่งบประมาณหมดไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่
"หากมีความจำเป็นต้องขุดลอกหรือกำจัดผักตบก็ควรให้ชาวบ้านหรือท้องถิ่นเข้าไปร่วม บอก จุด บอกเวลา เพราะคนในท้องถิ่นเป็นคนใช้ประโยชน์และจะเหมาะสมกับวิถีชีวิตการทำมาหากิน ของเขาเองด้วย บริเวณไหนที่เชื่อมกับระบบชลประทาน ระบบสูบน้ำพลังไฟฟ้า จุดสูบน้ำประปา แต่ที่ผ่านมาเราขุดลอกในฤดูน้ำหลาก พอน้ำแห้ง ก็เห็นหลุมเป็นจุดๆ มีต้นไมยราพขึ้นเต็มไปหมด" นายจันทร์ติ๊บกล่าว
ท้องถิ่นขอมีส่วนร่วมในโครงการฯ
ดต.มนตรี วงศ์อภิสิทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านต๋อม กล่าวว่า โครงการพัฒนากว๊านพะเยาครั้งนี้ ไม่อยากให้เกิดปัญหาสร้างความขัดแย้งแก่ชุมชน จึงอยากเสนอให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ โดยให้มีคณะทำงานระดับพื้นที่ในการทำงานประสานกับมหาวิทยาลัยพะเยาและจังหวัด เพื่อวางแผนพัฒนาและคิดร่วมกันหลายเรื่องในรายละเอียดปลีกย่อยของโครงการ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ การออกแบบระบบชลประทาน /การขุดลอก /การกำจัดผักตบ
เพราะทุกวันนี้มีอีกหลายหน่วยงานกำลังเสนอโครงการเกี่ยวกับการพัฒนากว๊านพะเยาและแม่น้ำอิงเหมือนกัน เช่น องค์กรท้องถิ่น สำนักงานชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่หนองเล็งทรายลงมาจนถึงกว๊านพะเยา บางโครงการอาจจะทับซ้อนและไม่สัมพันธ์กัน
"โครงการนี้ต้องเปิดให้ท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากหนองเล็งทรายลงมาจนถึงปลายน้ำอิงที่เชียงของ เพราะระบบนิเวศของกว๊านพะเยาและแม่น้ำอิงมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นละเลยอาจจะสร้างปัญหาและมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำอิงทั้งหมดอย่างแน่นอน"
หวั่นเกิดผลกระทบด้านศิลปกรรมท้องถิ่น
นายบรรจง วงศ์ราษฎร์ หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ทางหน่วยงานยังไม่ได้รับการติดต่อหรือมีข้อมูลเอกสารโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ทราบเพียงว่าโครงการนี้ได้รับงบประมาณเบื้องต้นแล้วประมาณ 800 ล้านและจะเสนออีก 3,000 ล้านในระยะยาว ซึ่งโดยหลักการและรายละเอียดจะระบุว่า โครงการนี้จะเกิดผลประโยชน์และแก้ปัญหาเรื่องน้ำต่อประชาชนจังหวัดพะเยาได้ระดับหนึ่ง แต่ตนรู้สึกกังวัลต่อการดำเนินโครงการอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วร่วมหรือการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และผลกระทบต่อระบบนิเวศและศิลปกรรมท้องถิ่นซึ่งในโครงการนี้ยังไม่มีการศึกษา
"โครงการนี้ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน และต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกว๊านพะเยาได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ การหยิบเอารายงานวิจัยก่อนหน้านี้มาอ้างไม่น่าจะรับรองได้ เพราะไม่ใช่การศึกษาผลกระทบแต่เป็นเพียงการศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงการศึกษาผลกระทบของโครงการต้องมีการวิเคราะห์ตัวโครงการที่กำลังจะดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับโครงการกู้วัดติโลกอาราม ซึ่งไม่ได้ศึกษาผลกระทบ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลกว๊านพะเยาจึงไม่อาจอนุาตให้ก่อสร้างได้"
หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดพะเยา กล่าวว่า นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อศิลปกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะหากมีการสร้างคันดินในลักษณะถนนเลียบชายกว๊านฝั่งตะวันออก ซึ่งจะผ่านด้านหลังวัดศรีโคมคำหรือวัดพระเจ้าตนหลวง อาจส่งผลให้บดบังทัศนียภาพความงามของโบราณสถาน เรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบและข้อมูลชัดเจน จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหาได้ในอนาคต
"เข้าใจว่าทุกฝ่ายมีเจตนาดี แต่ เราคิดโครงการมาลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอย่างรอบด้าน เพราะครั้งใดก็ตามที่รัฐเข้าไปแตะกว๊านพะเยามักจะสร้างความขัดแย้งให้กับคน ในท้องถิ่น"
เสียงจากภาคพลเมืองที่ส่งผ่าน "พะเยารัฐ" ทั้งหมดนี้ ช่างมีท่วงทำนองคล้ายเพลง "พะเยารอเธอ" เสียนี่กระไร?
……………………………………………………………………
เปิดงบโครงการ 810,524,400 ล้าน
@ แผนงานด้านสิ่งแวดล้อม
การกำจัดผักตบชวา 47,950,000 บาท
การกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยการขุดลอกและดูดตะกอนดิน 131,000,000 บาท
การอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำกว๊านพะเยา
พัฒนาแหล่งน้ำห้วยหนองเม็ง มหาวิทยาลัยพะเยา 8,400,000 บาท
ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์
ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีทดแทน ในพื้นที่ต้นน้ำกว๊านพะเยา 27,376,000 บาท
การพัฒนาพื้นที่รอบกว๊านพะเยา
ก่อสร้างถนนรอบกว๊านพะเยา ทำคันดินและถนนคอนกรีต และระบบน้ำเสีย 42,898,400 บาท
@ แผนงานด้านการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ
การขุดลอกตะกอนดิน เพื่อเพิ่มความลึกของกว๊านพะเยา
ขุดลอกกว๊านพะเยา ฝั่งตะวันออก 200,000,000 บาท
ขุดลอกทำคันดินรอบกว๊านพะเยา ระยะ 14.8 กม.กว้าง 10 เมตร 7,400,000 บาท
การพัฒนาพื้นที่เหนือกว๊านพะเยา
ขุดลอกลำน้ำอิงและหนองเล็งทราย 124,900,000 บาท
การพัฒนาพื้นที่ท้ายกว๊านพะเยา
ขุดลอกลำน้ำอิง หนองขวาง หนองบวกแซะ หนองบัว และร่องช้าง 157,600,000 บาท
@ แผนงานด้านบริหารจัดการ
รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ทบทวนงานวิจัย จัดเวทีการมีส่วนร่วม 4,000,000 บาท
รวบรวมข้อมูลวิชาการและสารสนเทศ 5,000,000 บาท
การจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำ 15,000,000 บาท
ติดตามตรวจสอบและวิจัยคุณภาพน้ำ 5,000,000 บาท
การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำกว๊านพะเยาและแม่น้ำอิง 10,000,000 บาท
สร้างจิตสำนึก 6,000,000 บาท
การบริหารโครงการ 10,000,000 บาท
ติดตามประเมินผล 8,000,000 บาท
@ หน่วยงานที่รับผิดชอบ :
องค์การ บริหารส่วนจังหวัดพะเยา / สำนักงานจังหวัดพะเยา / ที่ทำการปกครองจังหวัดพะเยา / สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา / สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา / เทศบาลเมืองพะเยา / มหาวิทยาลัยพะเยา
***ข้อมูลจากเอกสาร โครงการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน
ที่มา : http://prachatham.com/detail.htm?code=n1_13092010_02
ภาพจาก http://pb-travelthailand.com/index.php?name=travel&file=readtravel&id=119
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=maewkittyjung&month=28-06-2009&group=6&gblog=4