'พระไพศาล' ชี้สำนึกความเป็นชาติของคนไทยกำลังอ่อนล้า
ถูกทุนนิยมกระตุ้นให้โลภ มองคนเป็นเหยื่อ เอาประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม ขณะที่ผลประโยชน์ชาติ ก็เริ่มถูกตั้งคำถาม ด้านดร.ณรงค์ เชื่อวิกฤตชาติเกิดจากความคิด-จิตใจที่กำลังล้มสลาย พร้อมจะแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวสารพัด
วันที่ 18 มกราคม หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (Buddhadasa Indapanno Archives) จัดเสวนา หัวข้อ “วิกฤตชาติ ประชาธิปไตย สังคมไทยและทางออก” ณ ชั้น 1 ลานหินโค้ง สวนโมกข์ กรุงเทพฯ โดยมี พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะกรรมการปฏิรูป รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูปและกรรมการสมัชชาปฏิรูป และนายประมวล เพ็งจันทร์ นักเขียนอิสระ ร่วมเสวนา
พระไพศาล กล่าวว่า สำนึกในความเป็นชาติของผู้คนกำลังอยู่ในภาวะอ่อนล้า ขาดความรู้สึกว่าประชาชนเป็นพี่น้องร่วมชาติ และความอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ก็เริ่มถูกตั้งคำถามว่า เป็นจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน สถาบันที่จะเข้ามาร้อยรับเชื่อมโยงผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็อ่อนแอ ไม่ว่าจะสถาบันประชาธิปไตย สถาบันระบบยุติธรรม ฯ กลายเป็นวิกฤตด้านจิตวิญญาณ จิตสำนึก วิกฤตชาติ ในที่สุดก็นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งบั่นทอนความรู้สึกในความเป็นชาติมากขึ้น
“ความเปลี่ยนแปลงในแง่หนึ่งเกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ การเข้ามาของระบบทุนนิยม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความโลภ เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม ผู้คนมองกันเป็นเหยื่อ มองกันเป็นปรปักษ์ ทำให้สังคมเหินห่าง เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ”
พระไพศาล กล่าวต่อว่า สถาบันดั้งเดิมของเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน วัด สื่อมวลชน รวมทั้งสถาบันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมักจะโอนอ่อนผ่อนตามกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ในที่สุดก่อเกิดวัฒนธรรมแห่งการละโมบ เอาประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งก่อให้วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง จนทำให้สังคมเกิดความระส่ำระสาย ความเป็นชาติจึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะถูกบ่อนเซาะทำลาย ซึ่งถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ ประชาธิปไตย หรือความยุติธรรมก็เกิดขึ้นได้ยาก
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า วิกฤตชาติเกิดจากความคิดและจิตใจที่กำลังล้มสลาย ซึ่งจิตมี 2 อย่าง คือ จิตของสัตว์และจิตมนุษย์ จิตสัตว์จะแสดงออกถึงความรู้สึกแท้ๆ อยากกินก็กิน อยากอึก็อึ อยากฉี่ก็ฉี่ อยากปี้ก็ปี้ อยากกัดก็กัด อยากนอนก็นอน ไม่มีกฎเกณฑ์ในชีวิต ส่วนจิตมนุษย์นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนและหล่อหลอม แต่ขณะนี้สังคมไทยยึดติดอาหารสัตว์มากเกินไป จิตสัตว์จึงเติบโตรวดเร็วกว่าจิตมนุษย์ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีจริยธรรม ไม่สนใจใคร จะโกงก็โกง และเมื่อไม่มีสิ่งใดไปจำกัด ก็พร้อมที่จะแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวสารพัด โดยไม่คำนึงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่วิกฤต ทั้งเรื่องการคอรัปชั่น ฆ่าฟัน แย่งชิง
“สัตว์เป็นสัตว์ ดีกว่าสัตว์เป็นมนุษย์ เพราะธรรมชาติของสัตว์หิวก็ฆ่า อิ่มก็พอ แต่สัตว์ที่เป็นมนุษย์นั้น จิตของสัตว์จะไปไกลกว่าสัตว์ธรรมดา จึงกินไม่รู้จักพอ” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า และว่า ในวิกฤตเช่นนี้ เราจะผลิตอาหารมนุษย์ ให้มนุษย์ฝึกฝนตนได้อย่างไร เมื่ออาหารธรรมเข้าไม่ถึง มนุษย์ไม่อยากกิน ขณะที่การพูดเรื่องธรรมะเป็นเรื่องล้าสมัย
ด้าน นายประมวล กล่าวว่า จิตสำนึกที่ก่อให้เกิดจินตนาการของความเป็นชาติร่วมกันจางหายไป ทำให้ชาติที่พูดถึงทุกวันนี้เป็นเพียง 'อาณาเขต' ของแผ่นดิน แต่ไม่ได้หมายรวมถึงจิตสำนึกในใจคน จึงมีการถกเถียงกันว่า 'ชาติ' คืออะไร และทำไมจะต้องเสียสละเพื่อชาติ และในที่สุด ก็นำมาซึ่งความร้าวฉาน การสูญเสียความศรัทธา ความเชื่อมั่นในความเป็นชาติ
นายประมวล กล่าวต่อว่า การศึกษาสมัยใหม่ ทำให้เกิดความรู้ที่มีพลังในบางสิ่งบางอย่าง แต่ลึกๆ ก็ทำให้เราสูญเสียจิตสำนึก เพราะการศึกษาสมัยใหม่มุ่งเน้นระบบคิด ความรู้ในเชิงเทคนิค ซึ่งความรู้เช่นนี้ก่อให้เกิดการเคลื่อนของสภาวะเศรษฐกิจแบบใหม่ จนกระทั่งทำให้เราเปลี่ยนวิถีแห่งการทำมาหากิน และในที่สุด จิตสำนึกก็ต้องเปลี่ยนตาม
“คนสมัยโบราณไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการหาเงิน แต่สามารถหาสิ่งที่เป็นปัจจัยในการยังชีพได้ ขณะเดียวกัน ก็รู้จักเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ปัจจุบันตัวตนของคนรุ่นใหม่ ถูกนิยามความสำเร็จ จากความสามารถในการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งนิยามดังกล่าว ทำให้ไม่คิดอาศัยหรือพึ่งพิงผู้ใด รวมทั้งตัวตนที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความเป็นชาติร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย”