มูลนิธิอโชก้า ระดมสมอง “สร้างภาพอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่”
“ประยงค์ ดอกลำไย” ย้ำชัดหัวใจสำคัญสร้างเยาวชน คือ กระบวนการที่ทำให้ทุกคนมองเห็นความเหลื่อมล้ำ -ความไม่เป็นธรรมในสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ด้านครูติ๋ว เชื่ออนาคตเด็กดีได้ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างก่อน
วันที่ 8 ธันวาคม 2553 มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) จัดงานเปิดตัวผู้ประกอบการสังคม (Ashoka Fellow) ประจำปี 2553 ณ โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ซอยแสงจันทร์ ถ.สุขุมวิท 40 กรุงเทพฯ โดยปีนี้มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นอโชก้า เฟลโลว์ 3 ท่าน ได้แก่ นายประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และนายศศิน เฉลิมลาภ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (จอมป่า) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
จากนั้นมีการระดมความคิดของผู้นำภาคประชาชนเพื่อ “สร้างภาพอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่” นำกระบวนการโดย นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป
นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงการวางรากฐานให้เยาวชน ต้องสืบสานความสัมพันธ์ วัฒนธรรม ประเพณี จิตอาสา ฯลฯ ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ซึ่งจะต้องมีการระดมสมองร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่คู่กับเยาวชนได้ต่อไปในอนาคต
“เราอาจไม่คุ้นเคยกับการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าว่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขอให้ลองนึกภาพดอกบัวดอกหนึ่ง วันนี้เป็นแค่ดอกตูมธรรมดา เมื่อวันเวลาผ่านไปดอกบัวนั้นกลับเริ่มเบ่งบานงดงามขึ้นกว่าเดิม เปรียบกับเยาวชน ทุกคนต่างมีวิถีทางเดินของตน อีกไม่กี่ปีข้างหน้า พวกเขาก็จะเติบโตเบ่งบานเช่นเดียวกับดอกบัว ดังนั้นขึ้นอยู่ผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้วว่า อยากให้ดอกบัวเหล่านี้เบ่งบานสวยงามอย่างไร” นายชัยวัฒน์ กล่าว และว่า ในอนาคตสังคมโลกจะไม่มีเสถียรภาพด้วยเหตุผลหลายประการ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีกระบวนการบางอย่างในการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีวิถีทางเดินที่ดีในอนาคต ซึ่งผู้ใหญ่ที่มีพลังขับเคลื่อนทางสังคม มีหน้าที่ดูแล ช่วยเหลือ สร้างหนทางให้เยาวชนเป็นในสิ่งที่อยากเป็น
ขณะที่นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) กล่าวถึงโครงการระดมความคิดเพื่อ “สร้างภาพอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่” ว่า เป็นการเปิดเวทีเพื่อให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งได้วางโครงการไว้ทั้งหมด 6 กลุ่มได้แก่ ภาคธุรกิจ สื่อสารมวลชน วิชาการ การเมือง ศาสนา วันนี้อยู่ในกลุ่มสังคม เน้นไปที่ผู้ประกอบการที่มีจิตอาสาเพื่อสังคมเป็นหลัก
“คาดว่า จะสามารถรวบรวมความคิดเห็นประชาชนเพื่อวางรากฐานให้แก่เด็กและเยาวชนในอนาคตผู้ที่จะเป็นเสาหลักของประเทศต่อไปได้ประมาณ 60,000 เสียง จากนั้นก็จะนำไปเสนอรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี”
ผอ.สอ.ดย. กล่าวด้วยว่า จากเวทีที่ได้ทำไปแล้ว คือ กลุ่มของศาสนาและสังคม พบว่าแม้จะเปิดประเด็นในเรื่องของเด็กและเยาวชน แต่หลายฝ่ายก็นำเสนอแนวคิดเรื่องอื่นอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเมือง หรือแม้แต่การนำเสนอข่าวก็สื่อมวลชนก็ตาม สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ภาคประชาชนก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเช่นเดียวกัน
ด้านนายประยงค์ ดอกลำใย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกเป็นอโชก้าเฟลโลว์ ประจำปี 2553 กล่าวถึงประเด็นเรื่องความยากจน ต้นตอปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งหากไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้แล้ว ก็ไม่สามารถสร้างอนาคตของเด็กและเยาวชนในทางที่ดีได้เช่นเดียวกัน
“ทุกวันนี้แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาและยกฐานะตนได้เองได้อย่างสมบูรณ์ ก็ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่ได้รับการศึกษาในส่วนนี้ ดังนั้นหัวใจสำคัญในการสร้างเยาวชนคือ กระบวนการที่ทำให้ทุกคนมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมในสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ”
สุดท้ายนางสุธาสินี น้อยอินทร์ มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า หากต้องการวางรากฐานอนาคตของเยาวชน ก็ควรเริ่มต้นที่ตัวผู้ใหญ่ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสียก่อน ซึ่งจะเป็นทางออกสำคัญในการวางรากฐานให้กับเยาวชนในอนาคต เพราะเมื่อผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดี ประพฤติตน ปฏิบัติตัวให้น่าเชื่อถือ ในอนาคตเมื่อเยาวชนเหล่านี้ประสบปัญหา พวกเขาก็พร้อมที่จะดำเนินตามรอยเท้าของตัวอย่างที่ดีต่อไป