หม่อมอุ๋ย ฉะจีดีพี มาตรวัดทำลายธรรมชาติ-คุณภาพชีวิต-การกระจายรายได้
ชี้เหตุ จีดีพี ส่งเสริมการพัฒนาเฉพาะด้านวัตถุ สร้างการพัฒนาแบบ Dual Economy เน้นเมืองใหญ่โตอย่างเดียว ไม่ได้สะท้อนการพัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ
วันที่ 30 พฤศจิกายน โครงการให้ความรู้เรื่องแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสังคมสุขภาวะ (Thai wellbeing) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง ‘การวัดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นจริงได้อย่างไร?’ ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาเปิดงาน ภายใต้หัวข้อ ‘ปัญหาการวัดแบบจีดีพีและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ตอนหนึ่งว่า การที่ประเทศไทยใช้จีดีพีเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้บริหารประเทศไม่สามารถฉุกคิดได้ว่าเป็นการทำลายธรรมชาติ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ และการกระจายรายได้ เนื่องจากจีดีพีเน้นในเรื่องการพัฒนาความเจริญทางด้านวัตถุและคำนึงถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จีดีพี จึงไม่ได้สะท้อนการพัฒนาความเจริญทางด้านจิตใจ
“การที่ประเทศไทยไม่มีมาตรวัดอื่นๆ เช่น การไม่มีมาตรวัดเรื่องการกระจายรายได้ ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกในชนบท ขณะที่การไม่มีมาตรวัดเรื่องการรักษาวัฒนธรรม ทำให้ธุรกิจการเงิน อย่างบัตรเครดิต ทำลายวัฒนธรรมการใช้จ่ายของคนไทยจากรูปแบบการ ‘ออมก่อนใช้’ เปลี่ยนเป็น ‘ใช้ก่อนออม’ ในที่สุด ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่สามารถอยู่ได้ ส่วนการไม่มีมาตรวัดเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทำลายทัศนียภาพทางธรรมชาติได้โดยง่าย ดังนั้น ควรมีการนำเครื่องมืออื่นมาใช้เป็นมาตรวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรวัดที่ว่านี้ อาจจะเป็นหรือไม่เป็นดัชนีวัดความสุข (wellbeing index) ก็ได้ เพียงแต่ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายและมีการนำมาใช้ได้จริง เช่น อาจเป็นจีดีพีวัดผลรัฐบาลเป็นชุดๆ” อดีต รมว.คลัง กล่าว และว่า ส่วนหนึ่งที่ผู้บริหารและนักการเมืองมุ่งแต่ขยายจีดีพี เนื่องจากเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่มองว่าจีดีพีไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่อย่างใด
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาแบบ Dual Economy คือ เน้นพัฒนาเมืองใหญ่ให้มีการขยายและเติบโตเพียงอย่างเดียว ขณะที่ในชนบทกลับมีทิศทางตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะยังพบว่าบางแห่งในชนบทยังไม่มีน้ำประปาใช้ โรงเรียนยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนจีดีพีไม่สามารถชี้ความขาดแคลนดังกล่าวได้ ทำให้การศึกษาเลวลง ดังนั้น ผู้ใช้จีดีพีเป็นมาตรวัดจะต้องเข้าใจข้อจำกัด จึงจะทำให้ประเทศเจริญไปตามที่ประชาชนปรารถนาได้ กล่าวคือ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่กระทบคุณภาพชีวิต มีการกระจายความเจริญ ช่วยให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน และกระจายโอกาสในการทำมาหากิน เพื่อรายได้ที่ดีขึ้น