สสส.เดินเครื่องตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อม-สุขภาพมาบตาพุด
สสส. สถาบันการศึกษา จับมือท้องถิ่น ภาคประชาชน เดินเครื่องตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อม-สุขภาพมาบตาพุด เชื่อข้อมูลถูกต้อง ครอบคลุม นำไปสู่ความไว้ใจ ร่วมเดินหน้าแผนป้องกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
วันที่ 6 ก.ย. ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะประธานในพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่มาบตาพุด” กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เพื่อร่วมโครงการวิจัยวิชาการร่วมกับภาคประชาชน พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมาบตาพุดและพื้นที่โดยรอบ และจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคประชาชน เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลของมาบตาพุด
“มาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชนในพื้นที่ ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เพื่อให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่ดี เดินหน้าไปด้วยกันได้ การพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบให้แก่ชุมชน ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ เชื่อว่าการลงนามครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อรุณี อินทรไพโรจน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลต่างๆในพื้นที่มาบตาพุดไม่มีหน่วยงานกลางดูแลรวบรวม ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ เบื้องต้นการทำงานภายใต้ข้อตกลงนี้จะเน้นรวบรวมผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลักษณะกายภาพของชุมชน อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน ภายหลังการรวบรวมผลการศึกษาต่างๆจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศของมาบตาพุด และบรรจุในแผนที่ดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งและเฝ้าระวังระดับปัญหาที่จะกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่หลายภาคส่วนร่วมกันทำงาน ทั้งนี้จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดระมัดระวังถือความถูกต้องเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
รศ.ดร.เลอสรวง เมฆสุต ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย กล่าวว่าความขัดแย้งพื้นที่มาบตาพุด ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ไว้ใจระหว่างประชาชน ภาครัฐ นักวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้เครื่องมือใหม่เพื่อจัดการปัญหาให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับ จึงมีการเสนอเครื่องมือ “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment : SEA) เป็นการทำงานครอบคลุมทุกด้านทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม หาความสมดุลเพื่อนำไปสู่การวางแผน การตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายยอมรับ และผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จนกลายเป็นข้อมูลชุดเดียวที่สังคมยอมรับ ไม่ว่าจะทำโครงการใดๆก็จะได้รับการยอมรับและเดินหน้าร่วมกันได้
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ประชาชนมาบตาพุด ไม่ได้มีปัญหากับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่มีปัญหากับการรุกรานสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ละเลยการใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหา ร่วมกัน สามารถขจัดความไม่เชื่อใจกันและกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมีข้อมูลสารสนเทศที่ไม่ครบถ้วน หากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน เช่น ปริมาณมลพิษในอากาศ ระดับความเป็นพิษของน้ำ และสามารถเชื่อมโยงได้ว่าจะทำให้เกิดผลใดขึ้น จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความยอมรับและพร้อมที่จะแก้ปัญหาด้วยกัน
“การทำงานจะไม่ใช้วิธีเพ่งเล็งหาคนผิด แต่เป็นการเฝ้าระวังหาความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของไส้เดือนที่บ่อขยะ หอย ปลาในทะเล กบ คางคง ที่แสดงให้เห็นสารพิษใกล้ชุมชน หรือพืชบางอย่างก็สามารถชี้วัดได้ ซึ่งพื้นที่มาบตาพุดถือเป็นพื้นที่ต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆได้เรียนรู้ถึงการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปปรับใช้ได้ทั่วประเทศ” รศ.ดร.เรณู กล่าว
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/16883