ไอเดียประเทศไทย ประกาศ 5 รายชื่อสุดท้าย คว้ารางวัล 1 แสนบาท
ปิดอย่างเป็นทางการแล้ว กับโครงการ “ไอเดียประเทศไทย” 5 ไอเดียผ่านการคัดเลือก ได้รางวัล คือ โครงการ CSR 76จังหวัด, ถนนสายภูมิปัญญา, นั่งแท็กซี่สบายใจ ไอทีช่วยได้, ผู้นำรุ่นใหม่และเปลี่ยนคนร้ายเป็นคนดี
วันที่ 25 พฤศจิกายน กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ สถาบันเชนจ์ ฟิวส์ชั่น (Change Fusion) สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน I-care บริษัท PCP ASIA และกรุงเทพธุรกิจ จัดแถลงข่าวปิดโครงการไอเดียประเทศไทย และประกาศรายชื่อ 5 ไอเดียสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกและรับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดโครงการไอเดียประเทศไทยว่า ผลงานทั้ง 5 ไอเดียที่ได้รับการโหวตจากประชาชน และผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจะได้รับเงินสนับสนุนรายละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาไอเดียต่อไปให้กลายเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
“โครงการไอเดียประเทศไทย เกิดขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคม โดยเฉพาะพลังจากภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมในคนไทยไม่จำนนต่อความคิด เพราะตราบใดที่คนหยุดคิดนั่นเท่ากับว่าสังคมจะไม่พัฒนา” นาย วิทเยนทร์ กล่าว และว่า อยากให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้สังคม เห็นว่า ความคิดดีๆ ของคนในสังคมนั้นสามารถผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเปิดรับผลงาน มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 3,000 ไอเดีย โดยมีการคัดเลือกในรอบแรกให้เหลือเพียง 50 ไอเดีย จากนั้นคัดเลือกในรอบที่สองเหลือ 20 ไอเดีย กระทั่งคัดเลือกเหลือ 5 ไอเดียสุดท้าย โดยตัดสินจากคะแนนโหวตของประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา
สำหรับไอเดียทั้ง 5 มีดังนี้ 1.‘กระจายเศรษฐกิจเพื่อสังคมระดมทั้ง 76 จังหวัด’ (CSR 76 จังหวัด) เจ้าของไอเดีย คือ นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ 2.‘ผู้นำรุ่นใหม่’ เจ้าของไอเดีย นางสาวสุพัตรา พันธุ์สะอาด 3. ‘นั่งแท็กซี่สบายใจ ไอทีช่วยได้’เจ้าของไอเดีย นางสาวเฟื่องฟ้า เป็นศิริ 4.‘ถนนสายภูมิปัญญา’เจ้าของไอเดีย นายเฟื่องรัฐ เป็นศิริ และ 5.‘สุนทรียสนทนา เปลี่ยนคนร้ายกลายเป็นคนดี’ เจ้าของไอเดีย นางอังคณา มาศรังสรรค์
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หนึ่งในเจ้าของไอเดีย ‘CSR 76 จังหวัด’ กล่าวว่า แนวคิดของโครงการเน้นการพัฒนาสังคมโดยใช้ความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เนื่องจากมองว่าการพัฒนาต้องเกิดจากกลุ่มคนที่มีปัญหาเดียวกัน อยากที่แก้ปัญหาร่วมกัน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหา จะเป็นลักษณะการถอดองค์ความรู้ให้แต่ละจังหวัด เพื่อนำไปบริหารจัดการ ซึ่งปรับใช้ให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น หรืออาจเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น”
ขณะที่นางสาวเฟื่องฟ้า เป็นศิริ นักศึกษาปริญญาเอก คณะสถิติประยุกต์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันพัฒนาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ไอเดีย ‘นั่งแท็กซี่สบายใจ ไอทีช่วยได้’เกิดขึ้นจากการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และนำมาผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถด้านเทคโนยีก็สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้เช่นกัน