กก.สมัชชาปฏิรูป เปรียบทุจริตในประเทศเป็น‘สหกรรมร่วมกันทำของคนไทย’
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ระบุ การทุจริตในประเทศไทยเป็นเสมือนโรคติดต่อ ยากจะโทษใครเป็นผู้กระทำ แถมยังจัดการไม่ได้ ขณะที่ ‘จุรี วิจิตรวาทการ’ ชี้สังคมไทยสนใจเรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม กลายเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องรื้อ-แก้ และปลูกจิตสำนึก
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘ฟื้นจริยธรรม...ทางออกของสังคมไทย’ ภายใต้งาน สัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรมแห่งชาติ ประจำปี 2553 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาเปิดงานเรื่อง ‘ปฏิรูปประเทศไทยโดยใช้จริยธรรม’ ว่า ปัญหาที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญ คือ 1.ปัญหาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 2.ปัญหาการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และ 3.ปัญหาเรื่องการจัดการจิตใจของตนเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มนุษย์พยายามแก้ไขมาอย่างยาวนาน แต่ในที่สุดก็กลายเป็นวิกฤตของกรุงรัตนโกสินทร์ และก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจการเมือง สังคม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการและการขาดจริยธรรม
“ด้วยเหตุที่เราพร่องเรื่องความดี และความสามารถในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องการรักษาระหว่างแพทย์และผู้รับบริการทางการแพทย์ หรือกระทั่งในวิกฤตช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่า มีการฉกชิงโอกาสและมีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงระดับคุณธรรมจริยธรรมในประเทศไทย ที่เสมือนเป็นโรคติดต่อที่ยากจะโทษว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่เป็นลักษณะ ‘สหกรรมร่วมกันทำของคนไทย’ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเราจัดการความขัดแย้งโดยไม่ได้มีกระบวนการ หรือมีการปรับเปลี่ยนเบื้องลึกของความขัดแย้ง รวมทั้งปรับจิตสำนึกให้มีใจเปิดกว้าง แต่เป็นลักษณะของการมุ่งการเอาชนะด้วยตันหา มานะ และทิฐิ”
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับธรรมะที่ผู้ปกครองควรยึดถือคือ ‘ทศพิศราชธรรม’ ขณะเดียวกันต้องมีการส่งเสริมจริยธรรมที่เป็น ‘ขบวนการทางสังคม’ (Social Movement) และส่งเสริมจริยธรรมในเชิงบวกและสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อการกระทำที่ไม่ดีจะได้ลดลง
จากนั้นมีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘ฟื้นจริยธรรม...ทางออกของสังคมไทย’ ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า วิกฤตใหญ่ขณะนี้คือทุกองค์กรถูกครอบด้วยคนไม่มีจริยธรรม ซึ่งหากมองลึกลงไปในลักษณะปัจเจก จะพบว่าแต่ละบุคคลประกอบขึ้นจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ ร่างกาย สมอง จิตวิญญาณ ซึ่งจริยธรรมนั้นจัดอยู่ในระดับจิตวิญญาณ และเมื่อปัจเจกบุคคลที่มีจิตวิญญาณไม่เท่ากันมารวมกันเป็นสังคมจึงต้องเกิดระเบียบการเมืองในสังคมขึ้น โดยมีจริยธรรมเป็นเครื่องกำหนดและควบคุมไม่ให้คนในสังคมสร้างความเดือดร้อนให้แก่กัน
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ว่าด้วยการเล่นพรรคพวก ให้ความสำคัญในเรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องมีการรื้อแก้ และปลูกจิตสำนึก เนื่องจากคุณธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแต่เกิดจากการหล่อหลอมบ่มเพาะ ทั้งจากสถาบันศาสนา ครอบครัว และสื่อสารมวลชน
“ในอดีตสถาบันศาสนามีอิทธิพลต่อคนไทยมาก แต่ปัจจุบันกระบวนการพัฒนาได้แยกเอาบทบาทศาสนาออกจากบทบาทการดำรงชีวิต ขณะที่ครอบครัวก็มีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันลดลง ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้จากพ่อแม่น้อย ขณะเดียวกันพ่อแม่บางคนก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เช่น วิ่งเต้นฝากลูกเข้าเรียนตั้งแต่เด็ก สิ่งเหล่านี้จึงไปตอกย้ำเรื่องระบบอุปถัมภ์มากขึ้น นอกจากนี้สถาบันสื่อสารมวลชน ก็เน้นเรื่องวัตถุนิยม ความร่ำรวย โหมกระหน่ำแต่เรื่องดารานักร้องซึ่งไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคมในภาพรวม สภาพเด็กที่โตมาในระบบสังคมที่สื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เด็กยึดถือ ซึ่งก็ย่อมทำให้ระบบคุณธรรมจริยธรรมเสื่อมลง”
รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า สภาพสังคมในขณะนี้ คนดีถูกมองเป็นคนประหลาด และถูกเบียดบังให้กลายเป็นชายขอบ เนื่องจากอาจไม่ร่ำรวยเท่าคนไม่ดี ไม่มีตำแหน่งสูงเท่าคนไม่ดี อีกทั้งเรื่องจริยธรรมกลายเป็นเรื่องเชย ซึ่งส่งผลให้วัยรุ่นหันไปหาพื้นที่ของตัวเอง หันไปเล่นเฟซบุ๊คมากขึ้น เนื่องจากมองว่าผู้ใหญ่ทำสิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีคุณภาพ ขณะนี้สังคมจึงเข้าขั้นป่วยเป็นอัมพาตในระดับหนึ่ง
“พื้นฐานทางความเชื่อและพฤติกรรมที่แสดงออก ซึ่งถูกกำกับโดยจริยธรรม ซึ่งเป็นส่วนลึกๆในจิตสำนึกมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องถูกผิด ความดีความชั่ว สามารถสั่งสมได้ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจด้วยการเรียนรู้ทางศิลปะ หรือกระทั่งผ่านทางบทเพลง ซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดพลังและมีภูมิคุ้มกันเมื่อเจอสิ่งไม่ดี”