เครือข่ายเด็กและเยาวชนยื่นข้อเสนอ “วาระปฏิรูปประเทศไทย”
ส.ว. สุมล หนุนเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนเด็ก-เยาวชน หวังต่อท่อกระตุ้นผู้ใหญ่ทุกภาคส่วนให้รับรู้ถึงปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
วันที่ 26 ต.ค. คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายขบวนการตาสับปะรด จัดงานเสวนาเรื่อง “ข้อเสนอวาระการปฏิรูปประเทศไทย กระบวนการธรรมาภิบาล เพื่อการป้องกันและป้องปราบอบายมุข โดยเด็กและเยาวชน” ณ ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 กรุงเทพมหานคร มีนางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน วุฒิสภา กล่าวเปิดงานเสวนา
นางสาวสุมล กล่าวว่า เด็กและเยาวชนมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ทุกภาคส่วนรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จะทำให้ผู้ใหญ่หลายท่านได้พบกับปัญหาที่อาจจะลืมเลือนหรือมองไม่เห็น รวมทั้งทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ถึงปัญหาในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
จากนั้นมีการอภิปรายเสวนาเรื่อง “การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดธรรมาภิบาลเพื่อการป้องปราบอบายมุข” โดยมี เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และนายพล พลพนาธรรม คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมเป็นวิทยากร
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี กล่าวถึงการทำงานเริ่มแรกที่จับมือกับองค์กรในหลายภาคส่วน เริ่มต้นจากองค์กรศาสนาที่เห็นพ้องต้องกันว่าอบายมุขเป็นสิ่งที่ไม่ดี หลังจากนั้นจึงขยายวงล้อมหาแนวร่วมที่กว้างขึ้น จนมาพบกับพลังขับเคลื่อนสังคมที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ เด็กและเยาวชน ที่สามารถเข้าถึงชุมชนและตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดหรือลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งแตกต่างกับนักวิชาการพูดให้ความรู้เป็นชั่วโมงก็ยังไม่สามารถเข้าถึงชุมชนได้เท่ากับพลังเยาวชนที่ลงไปทำกิจกรรมรณรงค์ เพียงแค่ไม่กี่นาที
ด้านนายพล กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการต่อสู้กับอบายมุขไม่ใช่เรื่องของงบประมาณเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือสร้างความเข้าใจและจิตอาสาแก่เด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน ไม่นำสิ่งชั่วร้ายเข้าหากัน จนเกิดขึ้นเป็นธรรมาภิบาลที่ดีในสังคม
“เด็กและเยาวชนคือหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องอบายมุข หากเราทำมวลชนให้เห็นชอบตรงจุดเดียวกันได้ ก็สามารถผลักดันให้สังคมเติบโตไปในทิศทางที่ดีได้ต่อไป” นายพล กล่าว และว่า จิตอาสาเป็นพลังผลักดันสำคัญในขั้นต้นที่จะทำให้สังคมรับรู้ รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะต้องมีตัวสนับสนุนที่สำคัญอย่างข้อบังคับทางกฎหมายที่เข้มงวดอย่างจริงจัง แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถใช้งานได้จริง
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชน 7 จังหวัด ได้ยื่นข้อเสนอ “วาระการปฏิรูปประเทศไทย กระบวนการธรรมาภิบาล เพื่อการป้องปรามอบายมุข” ซึ่งมีทั้งข้อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ และเยาวชนในพื้นที่ ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งข้อเสนอเชิงนโยบาย แก่ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อผ่านไปยัง คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กรรมการสมัชชาปฏิรูป และกรรมการปฏิรูป