“สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” แนะผู้นำประเทศ รู้เขา รู้เรา สร้างสมดุลความขัดแย้ง
ย้อนรอย ร.5 ปฏิรูปประเทศแบบพลิกแผ่นดิน ดังนั้นคนไทยควรสามัคคี ด้าน นักวิชาการ ระบุ ต้องเอาแบบอย่างกษัตริย์ ไม่มองปัญหาด้านเดียว แก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบประเทศไทยดีที่สุด
วันนี้(19 ต.ค.) เวลา 9.00 น. กองทัพเรือ กรมศิลปากร และบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ “รำลึก 100 ปี ปิยมหาราชานุสรณ์ : บทเรียนความอยู่รอดของชาติท่ามกลางความขัดแย้ง” ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราภิชาน ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 แผ่นดินไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศที่ทันสมัย เพราะด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ ,นโยบายในการบริหารประเทศ และการแก้ปัญหาของชาติ ทำให้ประเทศไทยสามารถมีเอกราชอยู่ได้โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด โดยเฉพาะที่เด่นชัดที่สุด คือ การปฏิรูปบริหารบ้านเมือง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองได้อย่างทั่วถึง
“พระองค์ท่านได้แบ่งการบริหารส่วนกลาง ให้มี 12 กระทรวง และส่วนภูมิภาคได้เริ่ม ระบบเทศาภิบาล เน้นการกระจายอำนาจ ตั้งมณฑล จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เลิกระบบสายโลหิตในการเป็นเจ้าเมือง ยกเลิกหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ป้องกันความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือ พระองค์ท่านทรงให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากที่สุด อาทิ การรักษาความสะอาด รักษาพื้นที่ส่วนรวมด้วยกัน”
ศาสตราภิชาน ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า ในยุคสมัยของพระองค์ท่านยังใช้ที่ปรึกษาต่างประเทศที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ลุล่วงไปได้ นับเป็นกุศโลบายที่เชื่อมความสัมพันธ์ เพิ่มอำนาจการต่อรองระหว่างชาติ และเปิดโรงเรียนเพื่อฝึกข้าราชการพลเรือน โรงเรียน เพื่อเพิ่มความรู้แก่ประชากร เพราะพระองค์ท่านคิดว่า หากประชาชนมีความรู้ การพัฒนาต่อไปจะสามารถเป็นไปได้โดยง่าย
“การทำให้ประเทศทันสมัยสำคัญอย่างยิ่ง ต้องผสมวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน ให้รักษาแผ่นดินได้ สิ่งที่ควรเรียนรู้ ที่สำคัญ คือ การสร้างสมดุลของมหาอำนาจ ไว้คานอำนาจอื่น ท่ามกลางกระแสการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจ ต้องเร่งเสริมอำนาจแก่รัฐอื่นเพื่อคานอำนาจ จ้างประเทศอื่นมาทำงาน เช่น รัสเซีย เยอรมัน มาคานอำนาจกับอังกฤษ สร้างสัมพันธภาพที่ดี และคนในประเทศต้องมีความสมัครสมานสามัคคี”
ทั้งนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นการปฏิรูปที่ถือเป็นการพลิกแผ่นดิน เพราะยังมีปฏิรูปการเงินการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก และเริ่มผลิตธนบัตรเพื่อนำเงินตนมาใช้เอง ,ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ,ตั้งรากฐานตำรวจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตำรวจใกล้ชิดแผ่นดิน ,พัฒนาเกษตรกรรม โดยการเริ่มขุดคลองชลประทาน, มีการริเริ่มรถราง สร้างสะพาน การรถไฟ โทรเลข ริเริ่มการโทรศัพท์ เพื่อสะดวกแก่การสื่อสารโทรคมนาคม ,ด้านพุทธศาสนา สร้างวัดวาอารม,ด้านศิลปกรรม จิตรกรรม ทรงผสานศิลปะตะวันตกและตะวันออก สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้เข้าใจตะวันตก แต่ไทยเป็นเอกราช มีความสำคัญต่อการคงอยู่ ,การเลิกทาส เลิกไพร่ ให้เป็นอิสระ กลายเป็นพลเมืองเสรี ยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน ให้เสรีภาพการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ,ด้านสาธารณสุข ตั้งโอสถศาลา สภากาชาดไทย การประปา โรงไฟฟ้า และ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทรงดูแลชีวิตประชาชนทุกคน ด้วยการลงเยี่ยมพสกนิกร และคลุกคลีกับชาวบ้านโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก
"หวังว่าผู้บริหารประเทศไทยจะนำบทเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 มาใช้ เพื่อให้รู้เขา รู้เรา เอาชาติให้รอด สร้างสมดุลให้ได้ เพราะจากยุคนั้นประเทศสยามมีความขัดแย้งภายในไม่น้อย ก็ยังผ่านพ้นไปได้ ซึ่งวันนี้ ประเทศไทยมีอธิปไตยและการพัฒนาแล้ว ต่อไปอยากให้คนไทยต้องมีความสามัคคีด้วย จึงจะสงบสุข"
จากนั้น มีการสัมมนาเชิงวิชาการ “รำลึก 100 ปี ปิยมหาราชานุสรณ์ : บทเรียนความอยู่รอดของชาติท่ามกลางความขัดแย้ง”โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยะนาถ บุนนาค ภาคีสมาชิกสาขาประวัติศาสตร์ไทย สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงการแก้ไขความขัดแย้งในยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวที่ทรงใช้ คือ การแก้พฤติกรรม โดยให้เจ้านายที่ขัดแย้งกันมาไกล่เกลี่ยและลงสัตยาบันร่วมกัน หากไม่ทำตามจะใช้วิธีรุนแรงเฉียบขาด เพราะเมื่อมาถึงพระองค์ท่าน ทุกอย่างจะต้องจบ เพื่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งที่ทำได้เช่นนั้นเพราะจารีตประเพณี โครงสร้างทางสังคม ที่ประชาชนในยุคสมัยนั้นยังถูกจำกัดความคิดในรูปแบบครอบครัว พี่น้อง และการที่ให้ความไว้วางใจแก่พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโส ประกอบการตัดสินแก่ทุกฝ่าย ทำให้การแก้ปัญหาไปได้โดยง่าย สำคัญที่สุด คือ การที่แต่ละฝ่ายประนีประนอมกันได้เอง ก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้โดยในตัวเอง
“กุศโลบายที่สำคัญ คือ การที่ไม่มองเพียงด้านเดียว และใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งทุกอย่างจะทำอย่างรวดเร็วไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดไม่ได้ ต้องค่อยๆทำ ดังเช่นพระองค์ท่านกว่าที่จะสามารถปฏิรูปประเทศไทยแบบพลิกแผ่นดินในช่วงนั้นให้สงบสุขได้ ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาและพัฒนามากว่า 30 ปี ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ประสบผลสำเร็จ”
ด้าน ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ประวัติศาสตร์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เส้นกราฟการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเป็นบวกมาตลอด เพราะพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 จากเหตุ 3 ประการ คือ 1.การที่มีวิธีการในการประสานประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างบูรณาการ 2.การที่สละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ 3.การที่สามารถผูกใจคนในการทำงานได้ มิใช่เพียงการบังคับ ฉะนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้จะสามารถผ่านพ้นได้โดยง่าย เพียงผู้นำประเทศศึกษาและเอาแบบอย่างมาจัดการแก้ไขความขัดแย้ง
ขณะที่พลเรือโท สมหมาย ปราการสมุทร เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ กล่าวว่า หากรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังหลงทาง ล้มเหลว อยากให้ย้อนกลับมาศึกษาเรื่องราวของกษัตริย์ไทยที่เคยปฏิบัติมา ไม่ต้องไปศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่อื่น เพราะการเจริญก้าวหน้าและการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ จะเป็นสิ่งที่ดีและสามารถแก้ปัญหาของไทยได้ดีที่สุด