สิทธิ 'สตรี' เท่าเทียมชาย ภาพเสี้ยวเดียวในสังคมไทย
“ธงทอง จันทรางศุ” เปิดปมพบปัญหาสิทธิสตรีในสังคมไทย ยังมีปัญหา พบทัศนคติครอบครัวที่ยากจน พื้นที่ห่างไกล นิยมส่งลูกชายเล่าเรียนมากกว่าลูกสาว ถอดแว่นมองหญิงไทย "เหนือชั้น" เท่านั้น จึงจะไปรอด แถมเหนื่อยมากกว่าชาย กว่าจะได้ยืนแถวหน้า
วันนี้ (21 ก.ย.) เวลา 9.30 น. คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา จัดสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “สิทธิสตรีไทยในโลกปัจจุบัน” ณ ห้องแกรนด์ เอบี ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผู้หญิงยืนอยู่ตรงไหนในสังคมไทย” ตอน หนึ่งว่า ในอดีตผู้ชายมีบทบาทสำคัญ หากย้อนไปดูกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายทรัพย์สินหรือกฎหมายมรดกมักเขียนไว้เพื่อผู้ชาย โดยผู้หญิงต้องสมยอม และตกอยู่ในฐานะด้อยกว่า โดยเฉพาะการดูแลทรัพย์สิน
“ผู้หญิงในครอบครัว มีบทบาทจำกัดมาก ต้องขออนุญาตผู้ชาย ก่อนจะทำการใดๆ ตามกฎหมาย เป็นสิ่งสะท้อนในสังคมเรื่องความเท่าเทียมที่ชายหญิงต่างกันมาก แม้กระทั่งเรื่องการศึกษาของผู้ชายก็ยังมีแต้มต่อกว่าผู้หญิง มีโอกาสได้เรียนสามารถออกไปเรียนรู้ ตามที่ต่างๆ และสามารถสื่อสารเอาความรู้ไปต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ปล่อยให้ผู้หญิงเรียนเรื่องเย็บ ปัก ถัก ร้อย เป็นความต่างทางสถานะ เป็นชนชั้นสอง ”
ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า หากย้อนดูเรื่องการเรียนในมหาวิทยาลัย ในปี 2516 มีผู้หญิงอัตราส่วน 1:5 การเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะความรู้สึกในสังคมผู้หญิงไม่ต้องการการเรียนรู้ เช่น การมองเห็นอนาคตของการปฏิบัติงานราชการ กรณีตำแหน่งผู้พิพากษากติกาในสังคม ผู้หญิงเป็นผู้พิพากษาได้เฉพาะคดีของเด็กและเยาวชน สูงสุดในกระบวนการตุลาการ หรือเป็นเพียงอธิบดีศาลเด็ก ตำแหน่งด้อยกว่า หากเปรียบกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แม้กระทั่งนายอำเภอ การรับราชการต่างๆ ผู้หญิงจะได้รับตำแหน่งที่ด้อยกว่า
“แต่ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ มีผู้หญิงเข้ามาเรียนมากขึ้น มีผู้ชายคิดเป็นสัดส่วน 1 : 5 กลับข้างกัน แปลว่า สติปัญญา การแข่งขัน โดยรวม สติปัญญาไม่ได้แตกต่างกัน มีเพียงกายภาพของร่างกายเท่านั้น ขึ้นอยู่กับโอกาสการพัฒนา ว่า สังคมเปิดกว้างเพียงใด ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งเปิดกว้างมากในวงการกระบวนยุติธรรม มีสุภาพสตรีเด่นมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและได้รับการยอมรับ”
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากความไม่เท่าเทียมนี้ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายขึ้น ตั้งแต่ปี 2516 นับเป็นความสั่นไหวทางสังคมไทย ในบทบาทผู้หญิงผู้ชาย รูปแบบการปกครองก่อนปี 2516 เป็นรัฐบาลทหารเด่นชัด มีจอมพลต่อเนื่องเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเป็นต้นเหตุ เกิดรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มีเสรีความเป็นประชาธิปไตย และได้มีมาตราว่าด้วย ชายและหญิงมีฐานะเท่าเทียมกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
“โครงสร้างระบบความคิดเปลี่ยนจากที่ผู้ชายเป็นหัวหน้า และผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง กลับมีบทบาทเดินเคียงคู่กัน ในกิจการของครอบครัวทั้งหมด เพื่อให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้อง หากดูประมวลกฎหมายแพ่งในวันนี้ บทบาทผู้หญิงเด่นชัดขึ้น และ รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็บัญญัติไว้” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว และว่า นี่อาจเป็นภาพส่วนเดียวของสังคม แต่ปัญหาสิทธิสตรีในสังคมไทย ก็ยังเป็นปัญหา แม้มีสตรีเข้าถึงโอกาสเพียงจำนวนหนึ่ง แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึง และมีหนทางทางเดินชีวิตที่แคบ แม้วันนี้ผู้หญิงจะขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูง แต่ก็ยังมีผู้หญิงด้อยโอกาส ดังนั้น ไม่ใช่ประเด็นความเท่าเทียมอย่างเดียว หรือสังคมปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เสมอกันหรือไม่ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ อีก เช่น ผู้หญิงที่ทำงานในโรงงาน และที่ไม่มีโอกาส เรียนหนังสือ ต้องออกกฎหมายมาดูแลเรื่องนี้ด้วย
ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า แม้ข้อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ส่งเสริมผู้ชาย แต่พบว่า ในครอบครัวที่ยากจนห่างไกล ยังมีทัศนคติสนับสนุนลูกชายเรียนมากกว่าลูกสาว หากเปรียบเทียบความสามารถเสมอกันผู้ชายจะได้ก่อน นี่คือความจริงที่ยังเป็นอยู่ ผู้หญิงต้องเหนือชั้น จึงจะไปรอด ต้องเหนื่อยมากกว่า แม้กระทั่งภาคเอกชน ก็ยังซับซ้อน ว่าจะดูแลแรงงานผู้หญิงอย่างไร
“วันนี้จึงมีความซับซ้อน สิทธิของสตรีและบุรุษไม่เพียงเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายแรงงาน หรือข้อแม้ต่างๆ แต่สิ่งต้องพูดกัน คือ การให้เกียรติในสังคมไทย โดยไม่เลือกว่าเป็นชายหรือหญิง นับถือคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ให้โอกาสกับมนุษย์ทุกคน พัฒนาอย่างเต็มบริบูรณ์ ไม่เลือกเพศ เปิดโอกาสให้เท่ากัน สำคัญที่สุด คือ การเปิดโอกาสด้านการศึกษา ที่จะเป็นฐานในการพัฒนา การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ขณะนี้ผู้หญิงยังหายไปในระบบการศึกษา ดังนั้น สังคมต้องอุ้มชู และควรให้ความสำคัญ สร้างความรู้ความเข้าใจ เห็นเป็นทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า”