จนท.รัฐ-นักการเมือง ระดมสมองจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ
การระดมความคิดเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ จัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ประเด็น “ความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง” พล.อ.อ.วีรวิท วางเป้าหมายสร้างองค์กรความซื่อตรงต้นแบบในภาครัฐ ร่วมกันแสวงหาวิธีการปลูกฝังค่านิยมความซื่อตรงให้กับคนในองค์กร 3 มิติ
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดการสัมมนาโครงการสัมมนา เรื่อง "ระดมความคิดเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ" ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ จัดโดยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระบบการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และตรวจสอบการทุจริตในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ภาควิชาชีพ รองประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาระบบเสริมสร้างธรรมาภิบาล และตรวจสอบการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวสรุปความเป็นมาถึงแนวคิดที่จะจุดประกายความคิดให้กับหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมด้วยการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาความ ซื่อตรงแห่งชาติของประเทศไทย เพื่อปลุกจิตสำนึกความซื่อตรงให้เป็นคุณธรรมอันพึงประสงค์ของคนไทย โดยได้ศึกษาแนวคิดของประเทศมาเลเซียที่ประสบวิกฤตการณ์ในสังคมคล้ายคลึงกับ วิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมาเลเซียได้จัดทำ “แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” ด้วยการวางระบบการปลูกฝังค่านิยม “ความซื่อตรง” ให้เกิดเป็นคุณลักษณะนิสัยของคนมาเลเซีย โดยได้ดำเนินการให้เกิดความดีงามขึ้นในภาครัฐก่อน และขับเคลื่อนไปสู่ภาคการเมือง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม กลุ่มศาสนา เด็กและเยาวชน เป็นหลัก
พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวถึงการจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดในประเด็น “ความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง” เพื่อนำไปสู่แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการนำเสนอความเห็นที่ได้จากการสัมมนาใน 2 ครั้งแรก และการพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติของมาเลเซียต่อผู้บริหารระดับสูงของประเทศ โดยมีเป้าหมายคือสร้างองค์กรความซื่อตรงต้นแบบในภาครัฐ ร่วมกันแสวงหาวิธีการการปลูกฝังค่านิยมความซื่อตรงให้กับคนในองค์กรใน 3 มิติ คือ ความซื่อตรงต่อตนเอง ความซื่อตรงต่อหน้าที่ และความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป โดยมอบหมายให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเจ้าภาพหลักในการให้คำแนะนำและ ติดตามผล
ขณะที่ นางผาณิช นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการจะช่วยบูรณาการแนวความคิดต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใดก็ตาม เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหาความซื่อตรง เป็นปัญหาที่เรื้อรังในสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว และในระยะหลังการมองปัญหานี้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเวลามีการสำรวจทัศนคติของผู้คน หรือของเด็กและเยาวชน ที่กลับกลายเป็นว่ามองความไม่ซื่อสัตย์ การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติบ้าง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว และที่น่ากลัวคือหลายคนมองว่า เป็นความจำเป็นสำหรับการที่จะมีความก้าวหน้า หรือมีความสำเร็จ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
“ผมเป็นนักการเมือง ผมก็ยอมรับว่าเวลาคนคิดถึงปัญหานี้ พวกเราก็เป็นจำเลยที่ 1 ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ก็บอกว่าสมัยหนึ่งรู้สึกว่าเรายังแพ้ตำรวจ ตอนนี้เราแซงแล้ว ความเชื่อมั่นที่มีต่อนักการเมืองก็ลดน้อยถอยลงไปมาก และไม่ได้เจาะจงว่านักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือระดับหนึ่งระดับใด แตะมาที่ท้องถิ่น ระดับชาติ เป็นภาพลักษณ์ที่ลบไปหมด ที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือว่าในขณะที่ภาพลักษณ์เป็นลบ ถามว่ามีใครที่อยากจะลุกขึ้นมาสู้ และเปลี่ยนแปลง ซึ่งพบว่า น้อยมาก อย่างมากที่ทำกันมากที่สุดก็บ่นกัน และถ้าใครผิดพลาดก็อาจจะรู้สึกสะใจกันแค่นั้นเอง และก็ผ่านไป ”
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การหาเจ้าภาพที่จะทำเรื่องนี้ยาก โดยตนรับการติดต่อว่าคนเป็นนายกฯ เป็นผู้นำเรื่องนี้ได้หรือไม่ ซึ่งได้ตอบไปว่าเป็นไม่ได้ เพราะตนเป็นนักการเมือง และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเราก็ไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งคนที่มาอยู่ตรงนี้จะเป็นอย่างไร และถ้าตรงนี้ไม่มีความเชื่อถือเสียตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีฝักมีฝ่ายในทางการเมืองในสภาวะที่สังคมแตกแยกก็ เป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถที่จะใช้บทบาทตรงนี้เป็นตัวนำในเรื่องนี้ ในที่สุดจึงเสนอว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นกลาง น่าจะได้เป็นผู้นำทางด้านนี้ อาทิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารยินดีในการสนับสนุนอย่างเต็มที่
“ ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.ร. กำลังเร่งทำข้อตกลงความซื่อตรงที่จะทำกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนขานรับแล้ว ทั้งสภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย หอการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้เรื่อง e-Auction บางครั้งก็เป็นประโยชน์ บางครั้งก็เป็นโทษ ก็กำลังสะสางว่าควรจะใช้ตอนไหน ไม่ควรจะใช้ตอนไหน โดยให้ทางสำนักงบประมาณรวบรวมโครงการ 1.9 ล้านบาททั้งหมด เพื่อที่จะมาสะสางกันว่าตกลงจะให้โครงการ 1.9 ล้านบาทหรือไม่”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าระยะยาวหนีไม่พ้นว่าต้องเริ่มจากครอบครัว เริ่มจากเด็กเยาวชน โดยได้ย้ำกับกระทรวงศึกษาธิการว่าดีที่สุดคือให้เด็กเยาวชนเรียนรู้จาก กิจกรรม จากประสบการณ์จริง ว่าควรจะทำอย่างไร และให้เขาสัมผัสตรงนี้ให้ได้เมื่อเติบโตขึ้นมา ขณะเดียวกันต้องคิดอะไรที่สามารถทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง อย่างเช่นประมวลจริยธรรมเข้าใจว่าขณะนี้มีครบทุกหน่วยงานแล้ว แต่ให้ลองไปถามด้วยตัวเองว่าที่ดำเนินการจริงจังในเรื่องของประมวลจริยธรรม มีกี่กรณีแล้วที่ดำเนินการ เพราะฉะนั้น คงต้องคิดอะไรที่เป็นภาพรวม และทุกคนต้องช่วยกัน จึงขอฝากข้อคิดเหล่านี้ไว้