สภาพัฒนาการเมืองระดมสมองสร้างธรรมาภิบาล ปูทางสู่การปฏิรูป
วานนี้( 23 ส.ค.) คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับ สภาพัฒนาการเมือง สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ เครือข่ายอนุรักษ์พลังงานเพื่อประชาชน และสภาธรรมาภิบาล จัดการเสวนาครั้งที่ 2 เรื่อง “ธรรมาภิบาล : หัวใจการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อร่วมนำเสนอมุมมองต่อการปฏิรูปประเทศไทย จากเครือข่ายต่างๆ อาทิ เครือข่ายเยาวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายสตรี เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายการศึกษา เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ
นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเพชรบุรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่ต้องการจะปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งการเปิดสาย 6 วัน ให้ 60 กว่าล้านเสียงให้นำเสนอความคิด คงยังไม่เพียงพอ ต้องระดมความคิด จากทุกส่วนของภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ถือเป็นหัวใจการปฏิรูป ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นจาก 4 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องระบบการเลือกตั้ง ธรรมาภิบาล กระบวนการยุติธรรม และเรื่องระบบการศึกษา เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากประชาชนในการสร้างเสริมความเข้มแข็ง และเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศในเวลานี้
ขณะที่นายธิวัชร์ ดำแก้ว ตัวแทนเครือข่ายเยาวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมมาภิบาลเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่อง ทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับปฏิบัติการ ซึ่งหากพูดถึงประชาธิปไตยแล้วจะยืนอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยแบบลอยๆไม่ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนด้วย การสร้างธรรมมาภิบาลต้องเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับอุดมศึกษา นำหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อมาใช้ คือนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส มีส่วนร่วม รับผิดชอบ คุ้มค่า
“ปัจจุบัน การส่งเสริมคุณธรรมในระดับงานเยาวชน ผิดตั้งแต่รัฐที่สร้างองค์กรเยาวชน ที่จัดตั้งโดยรัฐ เพราะจะเป็นการหลอมรวมตามที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติ ซึ่งหากผู้ใหญ่ไม่ดีก็ไม่สามารถองค์กรให้ดีได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กที่เข้ามาทำงานในจุดนั้น อาจเรียกร้องผลประโยชน์ เล่นการเมืองตั้งแต่เด็ก เป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมตั้งแต่วัยเด็กโดยไม่รู้ตัว ถือเป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า ทำงานแบบเลี้ยงปัญหา แต่ไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง”ตัวแทนเครือข่ายเยาวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว และว่า อยากให้เด็กและเยาวชนศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้าง ความโปร่งใสและการมีคุณธรรม ก่อนเข้าสู่อาชีพ ซึ่งก็ต้องมีการแข่งขันด้วยมาตรฐานเดียวกัน สลายระบบเส้นสายให้ได้
ด้านนางยุพา ภูสาหัส เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายสตรี กล่าวว่า การสร้างธรรมาภิบาลที่จะเกิดผลดีนั้น ต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เพราะหากธรรมาภิบาลคือการตอบสนองต่อคนทั่วประเทศ การมีส่วนร่วมจะสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระดับใด วันนี้ต้องตั้งคำถามด้วยว่า ข้อใดสำคัญที่สุด ความจำเป็นของการมีส่วนร่วม อย่าหวังพึ่งใคร ต้องสร้างหลักประกันการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
ส่วนนายคมเทพ ประภายนต์ ตัวแทนคณะกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ระบุชัดเจนให้เรียนฟรี และเด็กตั้งแต่เกิดต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริง ยังคงต้องจ่ายค่าอื่นๆ อีกมากมาย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงรัฐไม่จำเป็นต้องมาแจกเสื้อผ้า แต่ควรทำให้สถาบันการศึกษามีคุณภาพ และมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ขณะนี้การศึกษาผู้ใหญ่ส่งเสริมแต่คนเก่ง แต่ผลักเด็กไม่เก่ง เข้าสู่อาชีวะศึกษา ไม่ให้เด็กได้คิด และไม่มีการดูแลเอาใจใส่การศึกษาที่ดีอย่างเทียบเท่ากัน
เอานโยบายการเกษตรนำประเทศ เชื่อประเทศอยู่ได้
นายกิจ ผ่องภักต์ ตัวแทนจากเครือข่ายชาวนา กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ทำให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด จนขณะนี้ไม่มีคนต้องการกลับไปเป็นชาวนาแล้ว นอกจากนี้ ยังถูกเอาเปรียบจากโครงสร้างและนโยบายทางราชการ จะเห็นว่า คนส่วนใหญ่ 80 % ทั้งประเทศ ยังคงดิ้นรนมีที่ดินน้อยลง แต่คนที่มีเงินกลับมีที่ดินจำนวนมาก
“ธรรมาภิบาล ในประเทศไทย มีมาตั้งนานแล้ว แต่ถูกสังคมอารยธรรมตะวันตกมาครอบงำ ทำให้เกษตรกรยิ่งทำยิ่งจน และคนที่รวยเป็น นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า แม้ว่าวันนี้ สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไป หากยังไม่เปลี่ยนระบบชนชั้น ก็อาจนำพาไปสู่นโยบายสร้างเกษตรกรฆ่าประชาชนด้วยกันเอง”
ตัวแทนจากเครือข่ายชาวนา กล่าวต่อว่า เราไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นชาวนา ภาคเกษตรกรไม่มีโอกาสไปนั่งเขียนกฎหมาย ลืมตาอ้าปากก็ไม่ได้ ถูกนักการเมืองทำให้แตกแยก หากเกษตรกรรวมกันได้ มีสิทธิมีเสียงออกกฎหมาย ล้างหนี้ ธ.ก.ส. และเอานโยบายการเกษตรนำประเทศ เชื่อว่า ประเทศจะอยู่ได้อย่างแน่นอน
ด้านนายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร กล่าวถึงความทุกข์ยากของเกษตรกร ผิดพลาดมาจากสมัยโบราณ เกษตรกรไม่ได้รับการศึกษา ขณะที่ค่านิยมของคนไทยเคารพ ให้เกียรติผู้ที่มีเงิน ประกอบกับรัฐบาลเน้นพัฒนาด้านอุตสาหกรรม มองข้ามเกษตรกร และที่มากกว่านั้น คือ นโยบายรัฐลำเอียง ไม่มีการกำหนดทิศทางประเทศทำให้แผนแต่ละฉบับของสภาพัฒน์ฯ ล้มเหลว
“ขณะนี้คนไทยลืมกำพืดระบบธรรมาภิบาลแต่โบราณ แต่กลับเชื่อคนที่เรียนนอก สร้างกรม กระทรวง จนเกิดการแย่งทุกอย่างไปจากเกษตรกร น้ำ ป่า ที่ดิน กรมดูแล มีอธิบดีเป็นเจ้าของ ขาดสิ่งเป็นธรรมาภิบาล คนที่ไม่รู้เรื่องกลายมาเป็นเจ้าของ เอาเรื่องตะวันตกมากดทับ ขาดองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง” ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าว และว่า ทุกอย่างต้องใช้หลัก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ที่ดิน แรงงาน ทุน การศึกษา ต้องพัฒนาไปอย่างควบคู่กัน
ปฏิรูปจะสำเร็จ ต้องเริ่มที่ คน และการคิดมีส่วนร่วม
สุดท้าย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า ประเทศไทยมีธรรมาภิบาลที่เป็นศรีธนญชัย มีรัฐธรรมนูญแต่นำสู่การปฏิบัติไม่ได้ นักการเมืองฉลาดที่จะทำเพื่อตนเอง ไม่ทำเพื่อส่วนรวม อีกทั้งรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ใช้ไม่ได้จริง แม้แต่องค์กรเรื่องสิทธิ ก็ไม่ได้นำไปใช้
“ปฏิรูปจะไร้ผล หากไม่ปฏิรูปรัฐสภา ต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ชัดเจน การมีส่วนร่วมการแก้กฎหมาย และหากจะมีธรรมาภิบาล ให้มีความเท่าเทียมกันทุกเรื่อง จะต้องให้ข้อมูลที่ดีและถูกต้องกับประชาชนด้วย ไม่เพียงการหลอกไปวันๆ เช่น การหลอกลวง ว่า ไทยส่งข้าวอันดับ 1 แท้จริงส่งออกพลังงานเป็นอันดับ 1 อีกทั้งโครงสร้างพลังงานยังไม่มีความเป็นธรรม ซึ่งข้อมูลตรงนี้ สื่อสารออกมามากน้อยแค่ไหน”
นางสาวบุญยืน กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทย ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูล ขณะที่เรามีกฎหมายมากมาย แต่กลายเป็นเครื่องมือของคนถือกฎหมาย เรื่องสิทธิ ต้องหามาเอง ดังนั้นต้องปฏิรูปโครงสร้างสังคม พัฒนาคน การปฎิรูปจึงจะเห็นผลสำเร็จ
จากนั้น ช่วงบ่ายของการเสวนามีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมและระดมความเห็นร่วมกันและจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย นำเสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) และคณะกรรมการศึกษาและปฏิรูปการเมือง ในวันที่ 3 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา