ผลวิจัย พบชายไทย 84% ยอมรับความเสมอภาค ให้ภรรยาร่วมตัดสินใจมากขึ้น
พม.-จับมือนิด้า เผยผลวิจัยมิติชายหญิง พบต้นเหตุความไม่เสมอภาคมาจาก “ทัศนคติ-การเลี้ยงดู หนุนชายเป็นใหญ่” พบผู้ชาย 84 % ยอมให้ภรรยาร่วมตัดสิน เชื่อช่วยสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวได้ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาแนวทางส่งเสริมการบูรณาการมิติหญิงชายเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐจาก 100กว่าองค์กรเข้าร่วม
รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม นิด้า กล่าวว่า การวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่พยายามเชื่อมโยงการทำงานเรื่องความเสมอภาคมิติหญิงชายเข้ากับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพยายามขับเคลื่อนงานการส่งเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในสังคมไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายม โดยงานวิจัยนี้พยายามหารูปแบบแนวทางผลักดันเรื่องความเสมอภาคมิติหญิงชายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงให้มากขึ้น ผ่านกลไกการผสมผสานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
รศ.ดร.จุรี กล่าวถึงผลการวิจัย พบว่า ความเข้าใจในเรื่องความเสมอภาคหญิงชาย ของคนในสังคมดีขึ้น ซึ่งในส่วนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนนั้นจะต้องทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่มองเรื่องนี้ให้เป็น เรื่องของวิถีชีวิต ที่ไม่ใช่แค่เรื่องทางวิชาการเท่านั้น
ขณะที่นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเครื่องสนับสนุนช่วยให้การทำงานพัฒนาและบูรณาการเรื่องมิติหญิงชาย เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะปรัชญานี้เน้นการคิดและการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้าน1.วัตถุ 2.สังคม ศีลธรรม การศึกษา เพศ 3.สิ่งแวดล้อม และ4.วัฒนธรรมเพื่อให้คนมีภูมิคุ้มกันสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ได้ รวมทั้งสอนให้คนรู้จักตัดสินใจในสิ่งต่างๆ แบบพอเพียง บนความพอประมาณสมเหตุผลแก่ตนเองและครอบครัว ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำรัสไว้ว่า ถ้าทำทั้งหมดนี้ได้ชีวิตคนก็จะเกิดความสมดุลพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ
"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นหลักคิดและปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับมือสิ่งต่างๆ จะช่วยทำให้การทำงานเรื่องความเสมอภาคในมิติหญิงชายนั้นสำเร็จได้ โดยที่ทุกคนจะมีความเสมอภาคและมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน และการพัฒนาใดๆ นั้นสังคมจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ด้วย”
ด้านคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย กล่าวว่า การนำงานวิจัยนี้ไปขับเคลื่อนต้องทำให้ทุกภาคส่วนมีการกำหนดเป้าหมายเรื่องนี้ร่วมกัน ซึ่งหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับหัวใจสำคัญของการทำงานความเสมอภาคหญิงชายที่ต้องทำให้ผู้หญิงและชายสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาแนวทางส่งเสริมการบูรณาการมิติหญิงชายเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ทำการวิจัยถามความเห็นต่อความรู้ ความเข้าใจเรื่องมิติหญิงชาย ความเสมอภาค ปัญหาอุปสรรคในการสร้างการรับรู้ที่ผ่านมา ,บทบาทของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ควรจะเป็นต่อการผลักดันเรื่องนี้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการบูรณาการงานมิตินี้ผ่านกระบวนการพัฒนาที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีการสอบถามประชาชนในเขตกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครจำนวน 1,000 คน และจากเจ้าหน้าที่รัฐจาก 125 กรม 4 องค์กรอิสระ รวม 129 แห่ง ที่มีการจัดตั้งผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย และที่มีศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคหญิงชายในหน่วยงาน
นอกจากนี้ยังสัมภาษณ์ผู้บริหารสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย และผู้บริหารศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคหญิงชายในทั้ง 129 หน่วยงานด้วย และทำการศึกษากรณีตัวอย่างจากประเทศฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และรวันดา ที่มีความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคหญิงชายในการทำงานทุกบทบาทในสังคม
ประเด็นการรับรู้ต่อปัญหาความไม่เสมอภาคและความเห็นด้านมิติหญิงชายของสังคมไทยที่ผ่านมา พบปัญหาความไม่เท่าเทียม เกิดการกีดกันเพศหญิงในอาชีพต่างๆ หรือกีดกันการมีส่วนร่วมของผู้หญิงซึ่งไม่เสมอภาคกับชาย พบว่า ร้อยละ 54.6 เห็นว่า มีปัญหา แต่ยังไม่รุนแรง ,ร้อยละ 44.1 เห็นว่า สาเหตุของปัญหาความเสมอภาคเกิดจากเจตคติและจากการเลี้ยงดูของคนในสังคมที่เชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างเห็นตรงกันในประเด็นนี้
ส่วนการรับรู้เรื่องราวด้านเพศที่ผ่านมานั้น ร้อยละ 32.3 สนใจรับรู้ข่าวการคุกคามทางเพศ ร้อยละ 26.9 สนใจข่าวความรุนแรงต่อผู้หญิง, ร้อยละ 50.8 เห็นว่า ผู้หญิงมีโอกาสก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้น้อยกว่าชาย
เมื่อถามถึงความเห็นต่อบทบาทของรัฐในการดำเนินการเรื่องความเสมอภาคมิติหญิงชาย พบ ร้อยละ 91.1 ต้องการให้รัฐมีนโยบายและดำเนินการส่งเสริมเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อสังคม ในจำนวนนี้ทั้งผู้หญิงและชายต่างเห็นตรงกัน, ร้อยละ 92.4 ต้องการให้ผู้หญิงควรได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชนมากขึ้น, ร้อยละ 90.4 เห็นว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณบางส่วนและบางโครงการที่เหมาะสมและปฏิบัติได้ โดยคำนึงถึงโอกาสที่ประชาชนเพศหญิงจะได้รับประโยชน์เท่าเทียมกับเพศชาย ซึ่งประเด็นนี้ผู้หญิงเห็นด้วยมากกว่าผู้ชายในสัดส่วนร้อยละ 93.0 ต่อ 87.8 และร้อยละ 93.3 เห็นด้วยว่า ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนทุกระดับ เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความไม่เสมอภาคหญิงชาย
ทั้งนี้ยังพบผลความคิดเห็นที่น่าสนใจอีก เช่น ร้อยละ 83.3 เห็นว่าในครอบครัวถ้าภรรยามีส่วนร่วมมากขึ้นในการตัดสินใจของสามีอาจทำให้ครอบครัวมีความเลี่ยงในการประกอบอาชีพหรือความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดน้อยลง ซึ่งประเด็นนี้ผู้ชายเห็นด้วยมากกว่าหญิง ในสัดส่วนร้อยละ 84.8 ต่อร้อยละ 81.8, ร้อยละ 90.7 เห็นว่าครอบครัวและสังคมที่มีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายจะช่วยทำให้ครอบครัว และสังคมนั้นมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น จากภาพรวมพบว่าผู้ชายรับรู้และตระหนักถึงปัญหาความเสมอภาคนี้มากกว่าผู้หญิง เล็กน้อย และความเห็นต่อมิติหญิงชายสามารถบูรณาการผสมผสานกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ได้หรือไม่นั้นส่วนใหญ่เห็นด้วย