“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” นำขบวนเปิดตัว "22 กก.ศิลปินเพื่อการปฏิรูป"
หมอประเวศชี้พลังศิลปินสร้าง “จิตสำนึกใหม่-จินตนาการปฎิรูป” พาสังคมออกวิกฤตได้ เหตุศิลป์สื่อเข้าถึงจิตทุกคนได้ลึกกว่าความรู้-เหตุผล “กวีเอกรัตนโกสินทร์” ย้ำหน้าที่ “สร้างจินตนาการร่วมเพื่อประเทศ”ปัดรับบทปรองดอง-แก้ปัญหา พร้อมเปิดพื้นที่ให้ศิลปินทุกประเภท-ทุกระดับร่วมขบวนปฏิรูป
วันนี้ (18 ส.ค.) ณ ห้องประชุมนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เปิดตัว 22 กรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ซึ่งมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินหลากหลายแขนงทุกเครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, นายเทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอิสระสาขาจิตรกรรม,นายอัศศิริ ธรรมโชติ กวีซีไรต์, นายนิวัติ กองเพียร ช่างภาพอาวุโสและนักวิจารณ์ศิลปะ, นายไพจิตร ศุภวารี ประธานสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม และนายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ,นางรัศมี เผ่าเหลืองทอง นักวิจารณ์และนักการละคร,นายเจะปอ สะแม ศิลปินพื้นบ้านจาก จ.ปัตตานี เป็นต้น เพื่อร่วมระดมสมองกำหนดทิศทางการทำงานปฏิรูปประเทศไทยโดยบทบาทของศิลปิน ทั้งนี้ประธานคสป.ได้ปาฐกถาเปิดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปครั้งที่ 1
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงบทบาทของศิลปินต่อการปฏิรูปประเทศเพื่อร่วมสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ 1 ใน14 คณะกรรมการภายใต้คสป.ว่า ศิลปินสามารถสื่อสารผ่านทางผลงานศิลปะเข้าไปในจิตวิญญาณของทุกคนได้อย่างลึกซึ้งและลึกกว่าการใช้สมอง ความรู้วิชาการและเหตุผลสื่อสารเพื่อการปฏิรูปอย่างเดียว ศิลปินจะสามารถช่วยทำให้การเรียนรู้ของทุกคนเกิดจินตนาการใหม่และจิตสำนึกใหม่ได้ และด้วยการใช้พลังจินตนาการและจิตสำนึกนี้จะดึงสังคมออกจากวิกฤติปัจจุุบันได้
“การใช้พลังความรู้และเหตุุผลเพื่อแก้ไขปัญหาของทุกวันนี้นั้นยังมีพลังไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้พลังจินตนาการร่วม ดังนั้นศิลปินจึงมีความสำคัญจะต้องสร้างจินตนาการใหม่และสร้างจิตสำนึกใหม่เพื่อเป็นพลังให้สังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ยังพิสูจน์แล้วว่าจินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้”
ประธานคสป. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยถูกวัฒนธรรมความคิดจากตะวันตกครอบงำ ถูกสอนให้รู้สึกว่าด้อยกว่า ไม่มีศักดิ์ศรีและไม่มีความรู้ ทั้งที่เรามีพื้นฐานหรือรากของสังคมอยู่ คือวัฒนธรรมมายาวนานเรารับเอาการศึกษาจากตะวันตก จนทำให้คนไทยขาดรากเหง้าของตัวเอง ไม่รู้ความหมายของวัฒนธรรมว่าลึกซึ้งแค่ไหน ทำให้ปัญหาสั่งสมมาจนนำมาสูู่วิกฤติการณ์และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ และเวลานี้สังคมไทยขาดศีลธรรมมากจึงต้องร่วมกันสร้างจินตนาการขึ้น
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ เป็นการกลับรูปประเทศทั้งระบบ ดังนั้นจะต้องมีการเปิดพื้นที่ทางสังคมและเปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง และต้องอาศัยพลังเครือข่ายศิลปินช่วยกันสร้างจิตสำนึกใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม โดยใช้การสื่อสารผ่านทางผลงานและศักยภาพศิลปะแต่ละแขนง ร่วมกระตุุุ้นจิตสำนึกใหม่และสร้างจินตนาการแห่งการปฏิรูปแก่ทุกคนในสังคม โดยกลุุ่มเครือข่ายศิลปินจะร่วมกันมุ่งหาแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ส่วนนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2536 หรือกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงกรรมการเครือข่ายศิลปินต่างมีเครือข่ายในแขนงต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ด้านวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะสถาปัตยกรรม ศิลปะการแสดง จิตรกรรม ประติมากรรม คีตกรรม นาฎกรรม ศิลปะภาพถ่าย รวมถึงศิลปินร่วมสมัยที่จำแนกตามท้องถิ่น ตามวัฒนธรรมทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อจะนำไปสู่การระดมความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจากศิลปินทุกแขนงต่อการปฏิรูปได้
“การเกิดเครือข่ายศิลปินทั้งประเทศนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นฐานของความคิดเห็นของศิลปินทั้งประเทศ การรวมตัวกันครั้งนี้ เราไม่ได้มาทำงานเพื่อสร้างการปรองดอง หรือเราไม่ได้มาทำงานเพื่อแก้ปัญหา แต่เรามาทำงานเพื่อสร้างจินตนาการร่วมกันเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่”นายเนาวรัตน์ กล่าว
ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวถึงจุดเน้นของคณะกรรมการชุดนี้ คือ 1.ร่วมกันแสดงความคิดต่อการปฏิรูปและสร้างส่วนร่วมจากศิลปินทุกประเภทและทุกระดับ 2.สร้างสรรค์งานศิลปะผ่านกิจกรรมที่แต่ละคนหรือกลุ่มที่ทำอยู่เพื่อร่วมสร้างกระแสปฏิรูป 3.สร้างการรวมตัวเครือข่ายของศิลปินทั้งประเทศ
นายเนาวรัตน์ กล่าวด้วยว่า กระบวนการพัฒนาสมัชชาเครือข่ายศิลปินและการขับเคลื่่อนของเครือข่ายศิลปินนี้ในเวลา 3 ปีจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปประเทศ และหวังว่าเครือข่ายศิลปินจะมุ่งใช้ศักยภาพแต่ละแขนง ร่วมกระตุ้นจิตสำนึก สร้างจินตนาการแห่งการปฏิรูป เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน บนรากฐานของความพอเพียง ความดีงาม ปัญญาและความสุขได้
ส่วนนายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ศิลปะจะช่วยบำบัดฟื้นฟูเสริมแรงให้ประชาชนในการร่วมปฏิรูปประเทศได้ โดยบทบาทของศิลปินจะช่วยสื่อสารผ่านงานศิลปะออกไป
นางรัศมี เผ่าเหลืองทอง นักวิจารณ์และนักการละคร กล่าวว่า อยากให้เกิดการเปิดพื้นที่ในสังคมให้งานศิลปะมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างที่จะสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการถ่ายทอดด้วย ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายตนได้ใช้แนวคิดกิจกรรมศิลปะบูรณาการมาเปิดพื้นที่และโอกาสให้เยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วมทำและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของศิลปะเพื่อสังคม
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจินตนาการร่วมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในฐานะศิลปินว่า ตนเสนออยากเห็นรัฐสนับสนุนสร้างพื้นที่สำหรับงานศิลปะวัฒนธรรมให้สังคม เช่น พิพิธภัณฑ์ชุมชน หอแสดงงานศิลป์ชุมชน หอภาพยนตร์ชุมชน ฯลฯ ให้เกิดโครงสร้างและสถานที่อย่างเป็นรูปธรรม 100 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อดึงศิลปินในแต่ละท้องถิ่นให้มาเข้าร่วม
ด้านนายเทพศิริ สุขโสภา ศิลปินอิสระสาขาจิตรกรรม กล่าวว่า งานศิลปะเพื่อการปฏิรูปที่เราจะสร้างนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบเต็มที่ แต่ควรนำเสนอออกมาให้คนเสพอยากจะสานต่อสิ่งที่เราสื่อออกมาด้วย
ทั้งนี้คณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป มีนพ.ชัย โชควิวัฒน เป็นรองประธานฯ และประกอบด้วยกรรมการ 20 คน ได้แก่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข, นายอานันท์ หาญพาณิชย์พันธุ์, นายเทพศิริ สุขโสภา, นายนิวัติ กองเพียร, นายอัศศิริ ธรรมโชติ, นายไพจิตร ศุภวารี,คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, นายเอนก นาวิกมูล, รศ.ดวงพร คำนูณวัฒน์, นางรัศมี เผ่าเหลืองทอง, นายสถาพร ศรีสัจจัง, ดร.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, นายณรงค์ จันทร์พุ่ม, นายธีรภาพ โลหิตกุล, ดร.ฉวีวรรณ พันธุ, นายเจะปอ สะแม, นายสังคม ทองมี, นางสมชาย เสียงหลาย และนายดนัย หวังบุญชัย
สำหรับภารกิจหลักของคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปนี้ มี 6 ประการ ดังนี้ 1.จัดระดมความเห็นและการมีส่วนร่วมจากศิลปินทุกประเภทและทุกระดับต่อการปฏิรูปประเทศไทย 2.ศึกษารวบรวม ประมวลวิเคราะห์ความเห็นของศิลปินทุกประเภทและทุกระดับจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูป 3.สนับสนุนศิปินทุกประเภทและทุกระดับในการสร้างสรรค์งานเพื่อสื่อสาร กระตุ้นจิตสำนึกและสร้างจินตนาการแห่งการปฏิรูป 4.จัดกระบวนการสมัชชาและการขับเคลื่อนของเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป 5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น และ6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คสป.มอบหมาย
อ่านประกอบ