เริ่มต้นสำรวจศรัทธา หอจดหมายเหตุพุทธทาส เปิดสารคดี “พื้นที่ชีวิต”
องคมนตรี “ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย” ย้ำชัด คนต้องมีศาสนา ชี้ปรากฎการณ์ทางสังคมทั่วโลก ไม่มีศาสนา ห่วงคนไทยถูกกลืนเหมือนประเทศที่พัฒนาทางวัตถุ ฝากการบ้านทำอย่างไรให้พุทธธรรมถูกหล่อหลอมอยู่ในจิตใจคนไทย
วานนี้ (14 ส.ค.) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย และบริษัทสไมล์ครีเอทีฟกรุ๊ป จำกัด แถลงข่าวเปิดสารคดีชุด “พุทธธรรม – พุทธทาส” ชื่อ “พื้นที่ชีวิต” Life Explorer โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสวนโมกข์กรุงเทพ และนายสุวิทย์ สาสนพิจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักรายการและสร้างสรรค์รายการ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ร่วมแถลงข่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวภายหลังชมตัวอย่างสารคดีพื้นที่ชีวิต โดยยอมรับสื่อสมัยนี้มีมาก แต่หากสามารถเลือกชนิดของสื่อ และไปถึงผู้รับสื่อได้ ก็จะไปไกลมากว่าที่ไม่ได้วางแผนไว้ พร้อมกับมองว่า เรื่องการใช้สื่อในการเพื่อเผยแพร่พุทธธรรม เป็นเรื่องของกาลสมัย และแต่ละกาลสมัยก็มีข้อจำกัด ข้อได้เปรียบแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องรู้จักการเลือกใช้ มีการวางแผน ซึ่งถือว่า สารคดีชุดนี้เป็นตัวอย่างการเลือกสื่อ เลือกเนื้อเรื่อง เพื่อไปสู่ผู้ชมที่หลายหลาย
จากนั้น องคมนตรี ได้หยิบยกผลงานวิจัยเด็กและเยาชนไทย หลังออกจากห้องเรียนแล้วใช้เวลาส่วนใหญ่ทำอะไรมากที่สุด พบว่า มีวิถีชีวิตต่างกันเป็น 3 ชุด ชุดแรก เด็กกรุงเทพฯ ใช้เวลามากที่สุดเดินห้างสรรพสินค้่า เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ชุดที่สอง เด็กและเยาวชน ในเขตเทศบาลในเมืองใหญ่ ไม่มีห้างให้เดิน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ กลุ่มที่สาม เด็กและเยาวชนที่อยู่ในชนบท ไม่มีห้างให้เดิน ไม่มีคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ
“หากดูผลวิจัยนี้ เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงสื่อออกมาเป็น 3 ลักษณะ คือเด็กเมืองหลวง เด็กในเขตเทศบาลเมือง และเด็กบ้านนอก หากเราจะออกแบบและเผยแพร่สื่อพุทธธรรม ก็ควรจะรู้ถึงอุปนิสัยการเข้าถึงสื่อของเด็กและเยาวชนด้วย” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว และว่า ในส่วนผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุก็ต้องทำวิจัยอีกชุดหนึ่ง ผู้สูงอายุได้ข้อมูลข่าวสารชีวิตจากที่ไหนบ้างเพื่อขยายพื้นที่ชีวิตตัวเอง นี่เป็นคำถามที่นักการสื่อสารมวลชนต้องตั้งคำถามและหาคำตอบ
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวอีกว่า วัตถุนิยมกับบริโภคนิยม ปัจจุบันมีงานวิจัยจากทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนพบว่า ในใบกรอกชีวประวัติ จะมีช่องท่านนับถือศาสนาอะไร ซึ่งคนหนุ่มคนสาวในจีนมากกว่าครึ่ง กรอกว่า ไม่มีศาสนา จะเห็นว่า จีนกำลังเติมตามสหรัฐฯ ที่คนก็จะบอกว่า ไม่มีศาสนาเช่นเดียวกัน ขณะที่ในยุโรปหลายประเทศก็เป็นอย่างเช่นนั้น ตรงนี้เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่น่าติดตาม ซึ่งยังไม่เคยเห็นงานวิจัยในบ้านเราที่พบว่า คนในรุ่นต่างๆ ในกรุงเทพฯ ในเมือง ในชนบท พยายามถามตัวเองว่า นับถือศาสนาอะไร หรือไม่มีศาสนาสักกี่เปอร์เซ็นต์
“ในชีวิตของคนสมัยใหม่ในเมืองใหญ่ เป็นชีวิตที่รีบร้อน มีนัดหมาย มีพันธะมาก การเข้าวัด พาลูกเข้าวัด ต้องตัดช่วงพื้นที่ชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อหาความจริง ความดี ความงาม หรือที่เราเรียกว่า ศาสนา คำที่ว่า คนไทยพื้นฐานจิตใจมีพุทธธรรมอยู่ วันนี้ผมไม่แน่ใจแล้วว่า คนไทยจะยังมีพื้นฐานจิตใจมีพุทธธรรมหล่อหลอมอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ ในความเห็นของผม คนต้องมีศาสนา ไม่ใช่ว่า ควร หรือ น่าจะ ผมไม่อยากเห็นคนไทยกว่าครึ่ง บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีศาสนาเหมือนประเทศที่พัฒนาทางวัตถุ เพราะจะเกิดสิ่งไม่ดีไม่งามมากมาย เราต้องทำให้คนไทยไม่ว่ารุ่นไหนก็ตามมีพุทธธรรมในใจ”
ส่วนการที่ศาสนาพุทธในเมืองไทยเต็มไปด้วยการขอ แก้บน เห็นคนไปปักธูป แล้วอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า อาจไม่ถูกกับสัจจะนิยมของคนตะวันตก ซึ่งในระบบการศึกษาเรา ก็เลียนแบบสัจจะนิยมตะวันตกจริงๆ 1+1 ต้องเป็น 2 แต่ในเรื่องของจิตใจ เรื่องของศรัทธา ศาสนา 1+1 อาจมากกว่า 2 หรือน้อยกว่า 2 ก็ได้ ฉะนั้นการเห็นใครเข้าไปในโบสถ์ อ้อนวอน และเสี่ยงเซียมซี แล้วรีบไปตัดสิน พิพากษา เราอาจไม่เห็นความดี ความงามที่ซ่อมอยู่ เชื่อว่า คนมีเหตุผลในการทุกอย่าง ขอให้ในใจมีพุทธธรรม
“พระพุทธเจ้าเตือนสาวก 60 องค์แรก ที่ออกไปเผยแพร่ศาสนาว่า ที่ให้ไปเผยแพร่นั้น ไม่ได้เพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้เพื่อสาวก 60 องค์ เพื่อ พหุชนะหิตายะ พหุชนะสุขายะ หรือเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน ส่วนการที่คิดว่า เราทำบุญไปทำไม หากเรายึดพระพุทธประสงค์ 2 ข้อนี้ เราจะได้คำตอบ เราทำบุญไปทำไม การทำบุญ ทำความดี ยึดมั่นในความจริง การสร้างสิ่งที่ดีที่งาม มีอุปสรรคทั้งนั้น แต่หากยึดพระพุทธประสงค์ 2 ข้อ เราจะมีกำลังใจ”
สำหรับสารคดี พื้นที่ชีวิต Life Explorer ให้คนไทยได้ขบคิดและค้นหาร่วมกับนักสำรวจศรัทธา วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.10 -22.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หลังจากออกอากาศแล้ว จะจัดทำเป็นชุดสารคดีออกเผยแผ่ทั่วไปให้เป็นสื่อประกอบการศึกษา เรียนรู้และพัฒนาชีวิตจิตใจในวงกว้างในวัด สถานศึกษา และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป