สถาบันพระปกเกล้าเดินหน้าระดมความเห็น ร่างแผนพัฒนาความซื่อตรงฯ
ผอ. สำนักวิจัยฯ เผยอิงโมเดล มาเลเซีย และพระราชดำรัส ร.6 เสริมสร้างคุณธรรมสังคมไทยร่วมกัน ด้าน "นิกร จำนง" เสนอ ศึกษาต้นแบบให้รอบด้าน เพราะความซื่อตรงเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับทุกคนในโลก
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม จัดเวทีระดมสมองการศึกษาเพื่อสร้างเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทย ณ ห้องประชุมรำไพพรรณี ชั้น 5 สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนนทบุรี
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงโครงการการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในสังคมไทย ว่า เกิดจากความคิดของคณะอนุกรรมการวุฒิสภาและศูนย์คุณธรรม เพื่อศึกษาและเสริมสร้างให้เกิดความซื่อตรงในสังคมไทย โดยเริ่มศึกษาวิจัยจากต้นแบบ คือ ประเทศมาเลเซีย ที่มีแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ (National Integrity Plan) ในการขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 ในการปลูกฝังค่านิยมให้เป็นคุณลักษณะที่ดีของประชาชน
“อีกส่วนหนึ่ง มาจากตัวแบบของรัชกาลที่ 6 ที่ได้เขียนถึงหลักราชการไว้ว่า “เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องของตนเอง เป็นเรื่องของหน้าที่ของข้าราชการ ในการประพฤติปฏิบัติตน” และอีกหลายๆ หลายประเด็นเกี่ยวกับคุณธรรม ให้เป็นกรอบการศึกษาในการพัฒนาให้สังคมมีคุณธรรมภายใต้สังคมที่เกิดความขัดแย้ง และชิงดีชิงเด่น”
ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า การทำโครงการวิจัยนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักการเมือง ข้าราชการ สื่อมวลชน โดยขั้นต่อไปจะใช้การสานเสวนาเพื่อรวบรวมข้อมูลรับฟังความคิดเห็นว่า หากจะใช้ความซื่อตรงต้องมีการทำอย่างไร เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและมีส่วนร่วมก่อนนำมาสร้างเป็นแผนความซื่อตรง ระดับชาติสำหรับประเทศไทย
ด้านนายนิกร จำนง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากกรณีศึกษาของมาเลเซีย ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะสามารถต่อยอดได้ แต่ส่วนตนขอเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติใด และมีระบบโครงสร้างการปกครองแบบพิเศษต่างจากประเทศอื่น หากจะดำเนินสร้างแผนซื่อตรง อยากให้ศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง เพราะมีความโดดเด่นเรื่องการต่อต้านการคอรัปชั่นด้วย นอกจากนั้นควรต้องดูมิติจากกลุ่มประเทศทางตะวันตกเสริม เพราะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งประเทศ ที่ควรศึกษาให้รอบคอบเพื่อมาประยุกต์ใช้ในประเทศให้เกิดผล
ส่วนนายบุญเลิศ คชายุทธเดช บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า การศึกษาสร้างแผนซื่อตรง ควรให้คำจำกัดนิยามความหมายของคำให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน ไม่เช่นนั้นจะไปทับซ้อนกับคุณธรรมข้ออื่น ประชาชนจะไม่เข้าใจจนส่งผลให้ไม่เกิดการเสริมสร้างได้อย่างจริงจัง
“ตัวอย่างประเทศไทย มีแผนพัฒนาหลายชนิดจำนวนมาก แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนพัฒนาได้ เพราะความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของคนแต่ละกลุ่ม จากหลักศาสนา ดังนั้น ต้องตั้งข้อสังเกต ขบคิดให้ถี่ถ้วน ต้องเข้าถึงสัจธรรมให้ได้เสียก่อนว่าความซื่อตรง ให้คำนิยาม อย่างไร ต้องชี้ให้ชัดก่อน จึงจะดำเนินการได้ถูกต้องตามมิติ ซึ่งหากจะเดินหน้าต่อไป ต้องเริ่มจากอธิบายได้อย่างชัดเจนกับความหมายของคำเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะมั่วกันไปหมดจนอาจจะไม่เกิดผลในการทำการศึกษา”
นายบุญเลิศ กล่าวต่อว่า ไม่มีใครแม้แต่รัฐบาลจะหยุดความเกรี้ยวกราดของสังคมไทยได้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ ระบบต่างๆต้องทำหน้าที่ของตนเอง ปัญหาอยู่ที่ใดควรแก้ที่นั้น ภาครัฐ ภาคการเมือง ประชาชน ปลุกพลังในตนเองเสียก่อน เสริมสร้างจากระบบการศึกษา โรงเรียน ระบบงานในองค์กร และปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
ด้านนางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) กล่าวว่า การใช้บุคคลตัวอย่างนำเสนอเรื่องของความซื่อตรงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่เป็นแบบอย่างความซื่อตรง ซึ่งการใช้ตัวอย่างยังเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยให้เกิดการคิดเชิงบวกร่วมกัน และจะเป็นแรงบันดาลใจในการผลักการเริ่มทำความดีในตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เริ่มสร้างจิตสำนึก บ่มลักษณะนิสัย และเกิดกระบวนการทำซ้ำและลอกเลียนแบบได้
ขณะที่นายเดโช สวนานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ปัจจุบันมีความบกพร่องด้านความซื่อตรง ซื่อสัตย์ เนื่องจากนำโรงเรียนออกจากวัด ในประวัติศาสตร์สอนให้รักษาศีล แต่กระทรวงศึกษาธิการตัดวิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรม ศรัทธาของผู้คนขาดขายไป จากที่เคยซึมซับจากพระธรรมคำสอน การที่ไม่ได้เอาผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านศีลธรรมมาสอน ต้องมองและแยกออกจากกันให้ได้ ทั้งนี้ควรที่จะกลับหลักสูตรใหม่ทั้งหมด กลับโรงเรียนให้เข้าสู่วัด พึ่งพาอาศัยกัน เริ่มจากครอบครัวที่ดี ทำให้เด็กสุจริต การคบเพื่อน ครู เริ่มจากโรงเรียน ทำให้ความซื่อตรงเป็นลักษณะกลม อยู่ในทุกอย่างของชีวิต
“สร้างวิธีการที่เป็นจุดหมาย ฝึกอบรมบ่มนิสัย อาจจะสอดแทรกเข้าไปในหลายแบบ แม้ว่าจะไม่มีตำราวิชาหน้าที่ความเป็นพลเมือง แต่สามารถอิงกับปัจจุบันได้หลายวิธี อาทิ ผ่านเกมส์ ผ่านละคร ”
สุดท้ายนายสยมภู เกียรติสยมภู เลขาธิการพรรคกิจสังคม กล่าวว่า สื่อมวลชนจะมีอิทธิพลอย่างมากในการนำเสนอและผลักดันความซื่อตรงให้เกิดขึ้น อาทิ การชูบุคคลต้นแบบ สร้างผู้นำทางความคิดอย่างเป็นรูปธรรม ปลูกฝังสังคม สร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เกิดซึมซับและเข้าใจสิ่งถูกผิด ซึ่งหากสื่อมวลชนทำหน้าที่เผยแพร่ทุกวัน นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และตัวอย่างที่ดีในชุมชนแทนการเสนอข่าวในเชิงลบ จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ความคิดสังคมเปลี่ยน และเกิดความซื่อตรงในสังคมได้ในอนาคต