เครือข่ายผู้หญิงฯ จัดงานแสดงความยินดีตัวแทนหญิงไทยร่วมปฏิรูป
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย จัดงานแสดงความยินดี ผู้หญิงที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย “สมสุข บุญญะบัญชา” ยันผู้หญิงไม่ด้อยสิทธิ เพียงแต่มีพื้นที่ให้มีส่วนร่วมน้อยเกินไป ด้านแม่สมปอง แนะการทำงานต้องร่วมหญิงร่วมชาย ไม่ควรแบ่งเพศ
วานนี้ (24 ก.ค.) เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย จัดงานแสดงความยินดีกับผู้หญิงที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ณ ห้องเทพประทาน โรงแรมเวียงใต้ กรุงเทพฯ โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรสมาชิกเครือข่ายกว่า 11 องค์กร และสมาชิกที่เป็นอาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไป มีดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวต้อนรับ และท่านผู้หญิง สุมาลี จาติกวนิช นายกก่อตั้งสมาคมติดตามการพัฒนาสตรี กล่าวแสดงความยินดีกับคณะกรรมการฯ ที่เสียสละเข้ามาทำงานแทนผู้หญิงไทยทั้งหมดที่จะร่วมกันปฏิรูปประเทศ
จากนั้นในเวทีมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย นางสมปอง เวียงจันทร์, น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา, นางรัชนี ธงไชย กรรมการปฏิรูป นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข กรรมการสมัชชาปฏิรูป น.ส.บุญยืน ศิริธรรม คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส) และนางเรืองรวี พิชัยกุล คณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ
น.ส.สมสุข กล่าวถึงบทบาทผู้หญิง ไม่คิดว่าผู้หญิงด้อยสิทธิ เพียงแต่มีพื้นที่ที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมน้อยเกินไป วันนี้ต้องทำให้สังคมเห็น ผู้หญิงพัฒนาบ้านเมืองชนิดเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมไม้ร่วมมือกัน โดยเฉพาะมุมมองของผู้หญิงจะมีความลึกซึ้งกว่าผู้ชาย ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาสร้างสมดุล ทำให้การพัฒนาประเทศมีมติด้านสังคม
ส่วนนางรัชนี กล่าวถึงความคิดของผู้หญิง มีความละเอียดอ่อน มองอะไรมองด้วยใจ เราจึงอ่อนโยน เวลาทำงานจึงทำงานด้วยรักและทุ่มเทในงานทำงานได้ทน นานและแกร่ง เพราะมีใจใส่เข้าไป
ขณะที่นางสมปอง กล่าวถึงผู้หญิงมีบทบาทในการต่อสู้ ต้องร่วมหญิงร่วมชาย ไม่ควรแบ่งเพศ มิเช่นนั้นจะเดินงานร่วมกันไม่ได้ ทั้งนี้ผู้ชายก็ต้องเข้าใจผู้หญิงด้วย และหลายครั้งผู้หญิงมีบทบาทในโต๊ะเจรจาสามารถลดความรุนแรงลงได้
นางเรวดี กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปไม่ได้มุ่งการทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มุ่งอนาคต หากผู้หญิงจะเสนอเรื่องใหม่ ควรเป็นจินตนาการของสังคมที่มีความเท่าเทียมเสมอภาค ตรงนี้เป็นวาระของกรรมการ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ข้ามไม่ได้ แต่ต้องไม่วนอยู่กับปัจจุบัน ใช้จินตนาการเพื่อดึงพลังสังคม
รศ.ดร.จุฑารัตน์ กล่าวถึงภารกิจงาน ของคอป.ว่า จะไม่ทับซ้อนกับกระบวนการยุติธรรม กรอบงานมี 3 ภารกิจคือ 1. ตรวจสอบและค้นหาความจริง เป็นการตรวจสอบไม่ใช่การไต่สวน เป็นการตรวจสอบเชิงสังคม 2.ฟื้นฟูเยียวยาในส่วนที่เป็นความเสียหายองค์กร คน สถาบัน ได้รับผลกระทบ 3.วางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ทำทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นางเรืองรวี กล่าวถึงการเข้าไปอยู่ในคณะทำงานปฏิรูประบบงานตำรวจ ว่า ได้เสนอเรื่องให้เพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และล่ามภาษาให้จัดไว้ในระบบงานสอบสวน ส่วนระยะยาวอยากให้มีการกระจายอำนาจ
ดร.สุดารัตน์ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อ ที่เป็นหนึ่งในแผนปรองดอง ใจความสำคัญอยู่ที่เสรีภาพกับความรับผิดชอบ ซึ่งกังวลใจเกี่ยวกับการปฏิรูปที่เน้นไปเรื่องข่าว ไม่ได้มองละครโทรทัศน์ ขณะที่กลไกการควบคุมกันเองยังเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่มีกฎกติกาจัดการกับคนที่กระทำผิด
สุดท้าย น.ส.บุญยืน กล่าวถึงการทำงานในคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมฯ ว่า ที่เข้ามาทำงานตรงนี้ ถือเป็นงานหนักมาก คิดว่าไม่ง่าย เพราะประเทศไทยมองการมีส่วนร่วมแบบศรีธนญชัย ต้องตีความตลอดอะไรคือการมีส่วนร่วม
“ผู้หญิงต้องมีพลังมากกว่านี้ การเข้ามาทำงานถือว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่ได้มีโอกาสเข้ามาแตะนโยบาย ดังนั้นต้องไม่ยอมแพ้ ถ้าคิดว่า ยาก ท้อ ทำไม่ได้ ก็แพ้ตั้งแต่คิดแล้ว ต้องลองดู เพราะอาจได้ไปเปิดกะโหลกคนที่คิดเรื่องการมีส่วนร่วม หรือความเข้มแข็งแบบผิวๆ”