“ภาณุ อิงคะวัต” แจงกรณีถูกแบนโฆษณา ขอโทษ..ประเทศไทย
ประธานเครือข่ายพลังบวก หวังคนไทยได้ดูโฆษณาชุดนี้ ร่วมย้อนมองรากของปัญหาความรุนแรง มากกว่าเหตุการณ์ ด้านนันทนา นันทวโรภาส ยกทฤษฎีกระสุนปืน แนะกก.เซ็นเซอร์ อย่ากลัวจนเกินเหตุ ยิ่งปิดคนยิ่งยากรู้
วันนี้ (19 ก.ค.) เวลา 22.30 น. รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย นำเสนอ กรณี ภาพยนตร์โฆษณาชุด “ขอโทษ ประเทศไทย” ถูกคณะกรรมการกองเซ็นเซอร์ระงับการออกอากาศในฟรีทีวี โดยมีนายภาณุ อิงคะวัต นักโฆษณาและประธานเครือข่ายพลังบวก และ ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมแสดงความคิดเห็น ดำเนินรายการโดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
นายภาณุ กล่าวถึงโฆษณาชุด “ขอโทษ ประเทศไทย” ถูกสั่งระงับออกอากาศว่า ตนยังอยากให้ทุกคนได้ดูโฆษณาชิ้นนี้ เพราะถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนไทยไม่ได้ย้อนมองรากของปัญหาประเทศไทยอย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่จะช่วยสะท้อนว่า สิ่งที่เกิดที่แยกราชประสงค์นั้น แท้จริงมีสาเหตุมายาวนานและเกิดจากหลายฝ่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้เหตุผล อาจจะต้องมีอีกหลายประเด็นที่ตัดออก หรือปรับแก้กว่า 80 % ก่อนโฆษณาชิ้นนี้จะออกอากาศได้ โดยเฉพาะเรื่องที่สะท้อนความจริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยในที่แจ้งได้
“ไม่มีโฆษณาชิ้นไหนถูกใจคนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญ ต้องโดนใจคนได้จำนวนหนึ่งในการเสนอมุมมอง ซึ่งเครือข่ายพลังบวก ยังมีอีกหลายวิธีการที่จะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกเครียด โกรธ แค้น ให้เป็นบวก อาทิ การรณรงค์ผ่านบิลบอร์ด หนังสือ กิจกรรม เวทีการคิดพลังบวก ซึ่งจะเป็นกลไกต่อไป”
นายภาณุ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการอาจจะเข้าใจว่าคนรับสารมีความรู้น้อย แต่ในความเป็นจริงคนที่สนใจเรื่องการเมืองมีจำนวนมาก และมีความรู้ มีวิจารญาณพอ ซึ่งหากให้ประชาชนได้ดูหนังโฆษณาเรื่องนี้จะช่วยให้มุมมอง แต่ละเรื่องเป็นอีกจุดที่ต้องตระหนัก และทุกคนเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ ในบทบาทเล็กๆที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน
ด้าน ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ประเด็นที่โดนคณะกรรมการสั่งห้ามออกฉาย น่าจะมาจากเรื่องความรุนแรง ภาพการเผาทำลาย ภาพทหารถือปืนไล่ยิง ซึ่งหากจำเหตุการณ์ได้ จะปรากฎในภาพข่าวตลอดเวลา แต่เมื่อโฆษณาชุดนี้ ถามว่ารุนแรงหรือไม่ ทำให้ทุกฝ่ายต้องมองว่า ขณะนี้ได้ทำอะไรที่เกินกว่าสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่ หลายคนกำลังอธิบายชุดของเหตุการณ์ว่า ใครเป็นโจทย์และจำเลย หากย้อนไป เหตุการณ์ 14 ตุลาคม และพฤษภาทมิฬ มีจำเลย แต่พอเหตุการณ์ 19 พฤษภา ไม่มีจำเลย ไม่มีใครยอมรับ ทุกคนเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งทางคณะกรรมการอาจจะรับไม่ได้ตรงจุดนี้
“โฆษณาชิ้นนี้ไม่ได้ทำแบบผิวเผิน หรือทำเฉพาะ 2-3 เดือนที่เกิดความรุนแรง แต่มองลึกลงไปถึงปัญหาสังคมไทย จึงมีคำถามที่โดนใจหลายคำถาม เริ่มต้นที่ทำให้คนสนใจว่า ใครทำผิด รุนแรงไปหรือเปล่า หรือฟังความข้างเดียว โดยจะมีภาพเสื้อเหลืองเสื้อแดง ซึ่งคิดว่าโดนใจคนดู จากไม่เคยเปิดใจฟังอีกฝ่ายหนึ่งเลย ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร หรือปัญหาที่ฝังในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้กระทั่งคำถาม ให้ปัญญาคนหรือไม่ ขณะที่มีเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงกันอยู่ แต่ทีวีก็ยังฉายละครที่เป็นฉากตบตีเรียกเรตติ้ง เป็นต้น”
ดร.นันทนา กล่าวถึงคำถามทั้ง 11 ข้อ ในโฆษณา ทุกคำถามเป็นคำถามสำคัญที่สามารถทำให้คนฟัง คนดูหยุดคิดได้ ซึ่งอาจจะยังมีคำถามมากมายที่สะเทือนใจได้มากกว่านี้ เช่น ทำไมคนไทยยังจนอยู่แบบนี้ ซึ่งยังนำเสนอไม่ได้ แต่ถือว่าคำถามครั้งนี้ ได้ช่วยสื่อถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาที่สะท้อนเรื่องที่หยั่งรากในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ทำให้สังคมต้องช่วยกันมองไปข้างหน้า
“วิธีการสื่อสาร การใช้ถ้อยคำ การใช้ภาพ ของโฆษณาชุดนี้ อาจเป็นเพียงการสื่อสารกับชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างอาจเข้าไม่ถึง กับสิ่งแสดงออกมา แต่หากมีความถี่เข้ามาช่วย มีคนช่วยสื่อสารให้เข้าใจ จะทำให้ทุกระดับซึมซับได้มาก ขณะนี้ชนชั้นกลางสามารถรับได้และเข้าใจได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หลังจากนั้น จะต้องกระจายสู่รากหญ้า ผ่านสื่อบุคคล หากลงไปทำกับผู้นำชุมชนช่วยในการสื่อสาร จะเกิดการเข้าใจได้มากขึ้น”
ดร.นันทนา กล่าวอีกว่า การเอาแต่เถียงว่าใครผิดนั้นไม่มีประโยชน์ อยากให้ทุกคนหันกลับมามองตัวเองว่า เป็นส่วนหนึ่งของพลังบวก ส่วนหนึ่งการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสิ่งที่อยากบอกกับคณะกรรมการ คือ อย่ากลัวจนเกินไป เพราะความกลัว ยิ่งจะคนจะเข้ามาดูมาก เป็นการเชิญชวน และก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นควรเปิดให้ทุกคนดู รับรู้ และมาช่วยกัน เป็นพลังบวกจะดีกว่า
"ทฤษฎีกระสุนปืนที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายชอบใช้ มักคิดว่าคนรับสารโง่ เลือกส่งสาร เป็นวิธีที่ผิด เพราะยิ่งพยายามปิด และจะให้รู้มุมเดียว ยิ่งแสวงหา และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เข้าไปสู่สิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้รู้”