“ไพบูลย์” ชูขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย คุณธรรมความดี
ศูนย์คุณธรรมระดมความเห็นประเด็น “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยคุณธรรมความดี” ไพบูลย์ ชี้ปัญหาความขัดแย้งวันนี้ยังเถียงกันเพียงเรื่องสาระ ขาดเรื่องความดี แนะภาคการเมืองทำงานโดยยึดหลักความดีเชื่อจะเป็นทางออกของประเทศ
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม(ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดประชุมเพื่อระดมความคิดในประเด็น “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยคุณธรรมความดี” ณ ห้องประชุมสุโขทัย 1 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร มีเครือข่ายคุณธรรมความดีและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายวงการ อาทิ ผู้แทนนักวิชาการ , ภาคประชาสังคม ,นักการเมือง , เยาวชน , สื่อมวลชน ,และภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์คุณธรรม และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ควรใช้วิกฤตใหญ่ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของคนไทยและสังคม เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า โดยพิจารณากระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” และ “ทัศนคติ” ควบคู่กับการพิจารณา “สาระ” ของการฟื้นฟูประเทศไทย รวมไปถึง แผนปรองดองแห่งชาติ ของนายกรัฐมนตรี
“เมื่อองค์ประกอบทั้ง สามส่วน เอื้อซึ่งกันและกันจะสามารถขับเคลื่อนได้ง่าย และต้องดำเนินการใน 3 ระดับ ควบคู่กันไป คือ ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับตำบล ใช้ประเด็น กลุ่มคน และ องค์กร เป็นตัวตั้ง เพิ่มเติมจากการใช้พื้นที่เป็นสำคัญ”
นายไพบูลย์ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทย แม้จะมีคนหลายกลุ่มพยายามช่วยกันแก้ไข แต่ยังมีปัญหาที่ยังถกเถียงกันเพียงเรื่องสาระ ขาดเรื่อง ความดี หากทุกภาคส่วนใช้ความดีเป็นแนวทางปฏิบัติจะช่วยให้ประเทศหาทางออก ได้ ทั้งสุจริต ซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นมิตร เมตตา อดทน สามารถทำได้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และสำคัญที่สุด คือ ภาคการเมือง หากภาคการเมืองทำงานโดยยึดหลักความดี ก็จะเป็นทางออกของประเทศได้
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ผู้แทนภาคประชาสังคม กล่าวถึงการขับเคลื่อนประเทศไทย ต้องทำทันที อย่าเพียงพูดเรื่องระยะยาวถึง 10 ปี โดยไม่เริ่มเชื่อมโยงตั้งแต่วันนี้ เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก คือ สภาวะอารมณ์ของประชาชน แม้จะรู้ว่าการเผาบ้านเผาเมืองจะสร้างปัญหา แต่ความรู้สึกสะใจ โกรธ ก็ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ ซึ่งหากนำเรื่องความจริงมานั่งถกเถียงกัน ก็ยังหาทางออกไม่ได้
“ในการแสวงหาความจริง โดยไม่ใส่ใจเรื่องประเทศชาติ ไม่ใส่ใจเรื่องจังหวะ โอกาส หรือ ไม่ใส่ใจเรื่องความรัก ความเมตตา เพราะบางครั้งความจริงอาจไม่มีประโยชน์ เราต้องรู้ว่าเราต้องหาความจริงในบริบทอะไร อย่าตัดแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการเชื่อใจ คิดหลายๆมุม ก่อนไปเชื่อมกับอนาคต ตัดความกลัวและสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้”
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูปประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน้าใหม่ มีไอเดีย และพลังชีวิต มาทำงาน มีความกระตือรือร้นอย่างสนุกสนาน เปลี่ยนจากภายในก่อนสู่ภายนอก ที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศไทยมีเพียงการเปลี่ยนแค่โครงสร้าง มีสถาบันเพิ่มเติม แต่ไม่มีการเปลี่ยนคนทำงาน และไม่สามารถก้าวหน้าขึ้นจากเดิม
ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ภาพใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องค้นคว้า คือ การกำลังก้าวผ่านจากรัฐบาลเผด็จการไปสู่ยุคของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งความขัดแย้งทางการเมือง นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบไทย มาถึงวันนี้ ต้องหมดยุคประชาธิปไตยนำเข้า มุ่งสู่ประชาธิปไตยแบบไทย เอาประชาธิปไตยแบบมีคุณธรรมนำหน้าให้ได้
“อาจจะต้องมีการอบรมนักการเมืองใหม่ ตามหลักสูตร และประเมินว่าไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ ช่วยกันดูว่ามีคุณธรรม จริยธรรมได้หรือไม่ จะทำให้กระบวนการกลั่นกรอง ด้วยระบบยุติธรรม เพื่อเป็นการเปิดทางแก่คนดีมากขึ้น อาจจะไม่ใช่คนดีที่สุด แต่จะช่วยลดคนชั่วได้ในระดับหนึ่ง และต้องแสวงหารูปแบบการเมือง ที่ไม่ต้องผูกกับนักการเมือง เพื่อสังคมไทยมากที่สุด แทนที่จะให้นักการเมืองดื่มน้ำสัตยาบัน แต่ควรนำไปอบรมเสียดีกว่า”
นายสุริยะใส กล่าวถึงแผนปรองดองของรัฐบาลชุดนี้ที่เกิดขึ้น คิดว่ามาถูกทาง แต่พลังทางสังคมต้องมีส่วนร่วม และมีข้อสรุปในอนาคตว่าให้กลไกทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน กำกับ ควบคุมภาคการเมือง หากปล่อยให้รัฐบาล พรรคการเมือง เป็นพระเอกต่อไป ประเทศไทยจะไม่ไปไหน
ทั้งนี้ ช่วงท้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ พิธีกร สรุปภายหลังการประชุมเพื่อระดมความคิดในประเด็น “การฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยคุณธรรมความดี” ว่า สิ่งเร่งด่วนที่ควรทำ คือ 3 อ. อภัย โอกาส และอุปนิสัย
1.เร่งหาเวทีในการแสดงออกถึงการให้อภัย ให้ความเข้าใจ ลดความขัดแย้งอย่างเร็วที่สุด โดยกระบวนการเล็กไปหาใหญ่ จากกลุ่มเล็กๆ หลากหลายกลุ่มอาทิ ชาวนา ชาวไร่ จะลดความขัดแย้ง คือ การให้อภัยได้
2. การให้โอกาส ส่งเสริมความดีควบคู่ไปทุกภาคส่วน ให้เกิดคนดี และความดีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง ต้องมีส่วนร่วมให้มาก พัฒนาคน และสร้างกระบวนการริเริ่มการดูแล ตรวจสอบคนดี ซึ่งสามารถทำควบคู่กันไป หรือบรรจุไว้ในแผนระยะกลางในการขับเคลื่อน เรียกสั้นๆ คือ ธรรมาภิวัฒน์
3.สร้างอุปนิสัยที่ดี ในการสร้างและเปลี่ยนประเทศไทยให้มีพื้นฐานต้นทุนแห่งความดี ฟื้นฟูภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม ต่อยอดการทำงานกลไกของโลกโลกาภิวัฒน์ ทั้งความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาส และการกระจายรายได้ที่กระจุกตัว ซึ่งต้องปรับทัศนคติกันใหม่