วุฒิสภาระดมความเห็น “อปท.” ทั่วปท. เตรียมทำ “แผนความซื่อตรงแห่งชาติ”
มุ่งสร้างคนไทยยึดค่านิยม “จิตสำนึกซื่อตรง” ด้าน “ปธ.สมัชชาคุณธรรม” ระบุชัดแผนนี้จะไร้ประโยชน์ถ้าทุกคนไม่เริ่มทำจากตัวเอง ชี้คนไทยติดล่มราษฎรในปกครอง-จี้ชำระจิตสำนึกมูลนาย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระบบการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตในรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัดสัมมนา “ระดมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” ทั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นของสมัชชาคุณธรรมครั้งที่ 1 เพื่อนำไปผลักดันสู่ปฏิญญาสมัชชาคุณธรรมขจัดปัญหาและสร้างภูมิคุ้มกันความซื่อตรงในคนไทย โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาคุณธรรม กล่าวถึงคุณธรรมความซื่อตรงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท. )ว่า การเมืองระดับชาติต้องเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ให้กับการเมืองระดับท้องถิ่น การพูดลอยๆอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีแผนผลักการกระทำเป็นนโยบาย แผนงานเพื่อส่งเสริมคนที่มีความซื่อตรง รวมถึงผลักดันสู่ปฏิญญาคุณธรรมร่วมกัน โดยต้องสนับสนุนคนเหล่านี้ที่เสมือนเป็นปลาเป็นที่ต้องว่ายทวนกระแสน้ำให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาตินั้นจะไม่มีความหมาย หากท้องถิ่นไม่ทำด้วยตนเอง ดังนั้นเริ่มที่ตัวเองก่อน เริ่มปลูกนิสัยจิตสำนึกที่ดีจากท้องถิ่น สร้างภูมิคุ้มกันในระดับท้องถิ่นที่เป็นเหมือนเซลล์ภูมิคุ้มกัน
“ทุกวันนี้คนไทยยังไปไม่ถึงความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เห็นจากได้จากวัฒนธรรมจิตสำนึกแบบมูลนาย อุปถัมภ์ที่มักพึ่งพาผู้อื่นอยู่ตลอด ยังเป็นราษฎรในปกครองมากกว่าการเป็นพลเมือง ดังนั้นจะทำอย่างไรที่เปลี่ยน ชำระความคิดจิตสำนึกเช่นนี้ออกไป ในท้องถิ่นการทำเรื่องจิตสำนึกไม่ยากหากต้องเป็นให้เป็นนิสัยการพัฒนาปฏิรูปจิตสำนึกใหม่นั้นต้องพัฒนาที่แต่ละคนจึงจะยั่งยืน การใช้จิตสำนึกต้องใช้ศิลป์มากกว่าศาสตร์ ต้องใช้ความแนบเนียนละเอียดอ่อนในการปลูกฝังบ่มเพาะ”
นพ.พลเดช กล่าวถึงการตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรตรวจสอบการทุจริต การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นเป้าหมายในทางลบนั้นก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย แต่วันนี้ต้องตั้งเป้าหมายการพัฒนาจิตสำนึกในทางบวก เริ่มจากสร้างนิสัยและภูมิคุ้มกันให้มีความซื่อตรง การมีส่วนร่วมของทุกคนต้องดูด้วยว่าเริ่มเพราะตัวเองหรือปัจจัยภายนอกโดยผู้อื่นให้ทำ
สำหรับจิตสำนึกแบบพลเมืองนั้น ประธานสมัชชาคุณธรรม กล่าวว่า มีระดับขั้น คือ เริ่มจากจิตสำนึกแบบพึ่งพา เช่น ราษฎรในปกครอง ไพร่ ทาส, จิตสำนึกแบบพึ่งตนเองที่ยังไม่เห็นแก่คนอื่น,จิตสำนึกสาธารณะที่เริ่มเห็นแก่ส่วนรวม เห็นใจสังคม รักษาหวงแหนสมบัติส่วนรวม, จิตอาสาใส่ใจการอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเจอเรื่องยากอาจจะยังไม่ทำ ซึ่งถ้าเป็นจิตปฏิวัติหรือจิตปฏิรูปก็จะมีใจเปลี่ยนแปลงแม้เจอเรื่องยากๆ ยกระดับขึ้นมาตามลำดับ สุดท้ายสู่จิตสำนึกโพธิสัตว์ที่พร้อมและทำช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทุกคน
ด้านพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระบบการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตในรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวว่า นอกจากการมีระบบบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาลแล้วต้องมีกระบวนการสร้างเสริมพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงด้วย ซึ่งเป็นการปลูกฝังเพาะบ่มการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่มีแผนพัฒนาความซื่อตรงระดับชาติ (National Integrity Plan) ที่ทุกคนในสังคมร่วมกันเริ่มต้นที่ตัวเองและพัฒนาไปสู่ระดับชาติ ครอบคลุมถึงความซื่อตรงทั้งต่อตนเองและต่อบุคคลอื่นในสังคม
ส่วนเป้าหมายของการระดมความเห็นเรื่องความซื่อตรงครั้งแรก พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า เพื่อต้องการศึกษาว่า การทำให้เกิดความซื่อตรงนั้นปัจจัยใดมีผลบ้าง และจะมีวิธีการอย่างไรในการปลูกฝังความซื่อตรงแก่คนในชาติ โดยในการระดมความเห็นครั้งแรกนี้จะอาศัยประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกยอมรับแล้วว่า เป็นบุคคลที่มีความซื่อตรง และครั้งต่อไปจะจัดระดมความเห็นเรื่องนี้จากฝ่ายข้าราชการรัฐ บุคลากรดีเด่นอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค.นี้
ขณะที่รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 กล่าวถึงความซื่อตรงว่า เป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการไปสู่สังคมสันติสุข โดยเฉพาะการซื่อตรงต่อหน้าที่ของแต่ละคน ล่าสุดมีผลวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีอันดับด้านธรรมาภิบาล ความซื่อสัตย์และซื่อตรงอันดับที่ 84 จาก 100 อันดับในโลก สะท้อนอะไรบางอย่าง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยยึดถือค่านิยมความซื่อตรงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
จากนั้นในเวทีได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารองค์กรดีเด่นด้านธรรมาภิบาล 3 ปีติดต่อกัน จากประสบการณ์ทำงานกับชาวบ้านพบว่า ปัญหาเรื่องทรัพยากร ความยากจน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการไม่ซื่อตรง ดังนั้นตนจึงมุ่งสนับสนุนสร้างเสริมบุคลากร ทรัพยากรคนให้มีความรู้มีจิตสำนึกที่ดี ปัญหาคอรัปชั่นนั้นแก้ไม่ยากหากบุคคลมีคุณธรรมและจริยธรรมอยู่ในตัว ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากตนเอง จากในครอบครัวแล้วขยายมาสู่องค์กรที่ทำงานแบบทีมไม่มุ่งแต่ใช้อำนาจสั่งการ
อย่างไรก็ตาม การประชุมในช่วงเช้ามีข้อเสนอต่อการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพัฒนาสร้างความซื่อตรงในตัวไทยมากกว่าแค่เนื้อหาในเอกสารแผนงาน, เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดเจ้าภาพที่ชัดเจนในการแสดงตัวอย่างอุดมการณ์ความซื่อตรงเพื่อนำให้เกิดการปฏิบัติในท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกจากนี้มีการเสนอให้คำนึงถึงการสร้างคนไทยที่มีความซื่อตรงบนฐานของการเป็นคนที่คิดมีเหตุและผล, เสนอให้ภาครัฐ ข้าราชการควรมีกระบวนการตรวจสอบชี้แจงบัญชีทรัพย์สินทุก4 ปีเช่นเดียวกับนักการเมืองด้วย,ให้มีการจัดตั้งป.ป.ช.ในลักษณะประจำทุกจังหวัด และทุกกระทรวง รวมถึงอาจให้มีการตั้งกระทรวงใหม่เฉพาะเป็นกระทรวงปราบคนโกง เป็นต้น