เวทีเครือข่ายสร้างมิติใหม่ฯ คลอด 3 ภารกิจ ลด ละ เลิก ทุจริต
เวทีเครือข่ายสร้างมิติใหม่ ด้านจริยธรรมและความโปร่งใส ระดมสมอง คลอด 3 ภารกิจ-แผนงานแก้ไขปัญหาการทุจริตในสังคมไทย ทั้งรณรงค์ จัดซื้อจัดจ้าง และการซื้อขายตำแหน่ง มอบมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อน
วันนี้ (11 มิ.ย.) สำนักงาน ก.พ.ร่วมกับมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด จัดประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อสร้างมิติใหม่ให้แก่ประเทศไทยด้านจริยธรรมและความโปร่งใส ณ ห้องประชุมใหญ่ กพค.ชั้น 3 สำนักงาน ก.พ. ถนนพิษณุโลก มี ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เป็นประธานการประชุม
นางชมนาด พงษ์นพรัตน์ ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. กล่าวถึงเวทีเครือข่ายเพื่อสร้างมิติใหม่ให้แก่ประเทศไทยด้านจริยธรรมและความโปร่งใสนั้น มีการประชุมทุก 3 เดือน โดยมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดเป็นแกนกลาง ซึ่งภาพรวมการขับเคลื่อนสังคมไทยด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต นั้น เกิดจากสภาพปัญหาการทุจริตในสังคมไทย มีทั้งเรื่องการประมูลโครงการ คุณธรรมจริยธรรม ราคากลาง ข้อมูลข่าวสาร ความโปร่งใส การซื้อขายตำแหน่ง และการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น โจทย์ คือ ทำอย่างไรจะดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริต แบบค่อยๆ ลด ละเลิก จนสามารถควบคุมได้ พร้อมทั้งให้สื่อคอยกระตุ้น และตอกย้ำ
จากนั้น ในที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าการทำงาน ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการดำเนินการส่งเสริมเรื่องคุณธรรม โดยมีแนวคิดทำกิจกรรม ทั้งการเตรียมจัดสัปดาห์จริยธรรมแห่งชาติ ประมาณเดือนพฤศจิกายน ดึงทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ทำโรดโชว์เรื่องจิตสำนึกด้านจริยธรรม ลอยกระทงจริยธรรม และการขายสินค้าเชิงคุณธรรม เป็นต้น
ผู้แทนจากศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม กล่าวถึง แผนงานได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การจัดทำกรอบสมัชชาคุณธรรม ใช้เรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและพอเพียง และกำลังระดมความเห็นจัดทำแผนความซื่อตรงแห่งชาติ ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ที่อาคารรัฐสภา และวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย. จะระดมความคิดขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยพลังความดี ลักษณะเชิงเสริมสร้าง เชื่อว่าสุดท้ายได้กระบวนการขับเคลื่อนต่อไป
ส่วนผู้แทนสภาสถาปนิก กล่าวว่า มีการทำมาตรฐานการก่อสร้างและราคากลางขึ้น ซึ่ง 4 สถาบัน คือ สภาสถาปนิก สมาคมสถาปนิกสยาม สภาวิศวกร และสมาคมก่อสร้างไทย มีแนวคิดตั้งหน่วยงานมาตรฐานการก่อสร้างและราคากลางเพื่อควบคุมหลักเกณฑ์ให้มีมาตรฐานชัดเจน ก่อนจะส่งมอบเป็นกรอบการทำงานให้กับรัฐบาล โดยเบื้องต้นนำเสนอตั้ง เป็นหน่วยงานกลาง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาจริยธรรม ความโปร่งใส และการทุจริตระดับชาติ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเรื่องจริยธรรมในสังคมไทยว่า มีคนพูดมามาก แต่ไม่มีใครทำ โดยเฉพาะเรื่องการปลูกฝังจริยธรรมตั้งแต่เด็ก โดยตนเชื่อว่า ผู้ใหญ่ชั่ว ปลูกฝังให้เด็กดีจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่คือต้นแบบของสังคม ณ วันนี้ ขี้โกงมีอยู่ในสายเลือดของคนไทยไปแล้ว อีกทั้งสถาบันจัดอันดับประเมินการทุจริต ก็ชี้ชัด อันดับของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้นการพูดอย่างเดียวจึงไม่มีผล เพราะนิสัยคนไทยลืมง่าย
นายดุสิต กล่าวว่า หลายหน่วยงานต้องช่วยกันส่งเสริมคนดี ซึ่งหอการค้าไทยกำลังปรับมุมมองใหม่ จะเริ่มประณามคนชั่ว จากที่สังคมไทยยังชื่นชมแต่คนรวย ยกมือไหว้คนรวย ทั้งๆ ที่โกงยังยกมือไหว้ เราต้องการเปลี่ยนแปลง ใครเป็นคนดีเราก็ต้องสร้างให้สังคมชื่นชม เราจำเป็นต้องใช้การผลักดันทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานตรงนี้ชัดเจน
“ผมจะเน้นเรื่องคอรัปชั่น ในภาคธุรกิจ สมาชิกคนใดเริ่มทำเลว พวกผมจะใช้สังคมกันออกไป ให้สังคมไม่ยอมรับ คอรัปชั่นนั้นฝังลึกถ้าไม่ทำก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ วันนี้ ผมประกาศไปแล้วโดยให้หอการค้าต่างประเทศทำแอคชั่นแพลน ”ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว และว่า การทุจริตในประเทศไทยต้องยุติ ต้องจบ มิเช่นนั้นประเทศชาติอยู่ไม่ได้ ตราบใดที่งบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ยังเข้ากระเป๋า ประเทศชาติไม่มีทางเติบโต พร้อมทั้งเสนอทำเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใสให้เป็นนโยบายของชาติ แม้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศก็ต้องเดินหน้านโยบายนี้
ส่วนนายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมและความโปร่งใส ประเทศไทยเราทำมามาก แต่ปัญหาไม่ได้ลดลง อีกทั้งค่านิยมของเยาวชนกลับยอมรับการทุจริตมากขึ้น ขณะนี้ประเทศเรามีโครงสร้างเรื่องการทุจริต คำถาม คือ เจ้าภาพที่ทำงาน ได้ทำภารกิจให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่
“โครงสร้างการทุจริต มี 4 องค์ประกอบ คือ 1.ฝ่ายการเมือง ส่งผลต่อการทุจริตทุกระดับ ตั้งแต่ระดับการเมืองถึงระดับชาติ 2. ข้าราชการ ซึ่งหากเข้าไปตรวจสอบจะพบว่า ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการสมคบกัน 3.กลุ่มธุรกิจ และธุรกิจการเมืองที่ โยงเข้าไปสู่พรรคการเมืองและอยู่เบื้องหลังนโยบาย หรือโครงการสำคัญๆ ของรัฐหลายโครงการ และ 4. พี่น้องประชาชน เป็นเครื่องเมืองของคนสองกลุ่ม เครื่องมือฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ ที่ฝังรากลึกอยู่เกือบทุกโครงการ”
เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มการเมือง เราต้องยอมรับมีอิทธิพลต่อการทุจริต ปัจจุบันหาผู้รับผิดชอบแทบไม่มี แค่คำว่า จริยธรรมการเมือง ก็ยังทำไม่สำเร็จ ถามว่า กลุ่มนี้ใครจะเป็นเจ้าภาพ และวางระบบการทำงานของฝ่ายการเมืองให้โปร่งใสอย่างไร ส่วนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของฝ่ายการเมืองใครจะควบคุม กำกับ และทำให้เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการตรงนี้ แทบทุกจุดไม่เกิด ผลทำให้เกิดการทุจริต
“ส่วนกลุ่มข้าราชการ จะสร้างคุณธรรมจริยธรรมในภาคราชการอย่างไร ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของท้องถิ่น คือการจัดซื้อจัดจ้างและซื้อขายตำแหน่ง ซีละหนึ่งแสนบาท ลำพังกระบวนการสมัครใจอย่างเดียวไม่มีทางทำสำเร็จ ต้องวางระบบ แบบมีสภาพบังคับด้วย และกระบวนการบริหารจัดการเพื่อความโปร่งใส ทำแบบ ISO ได้หรือไม่ เช่น หากมีระบบการทำงานที่โปร่งใสรับงบประมาณพื้นฐานไปก้อนหนึ่ง เป็นต้น ” เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว และว่า ภาคธุรกิจ ก็ต้องคุยกันเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ขณะนี้ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งที่เข้ามาสู่ระบบราชการแล้วก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้โครงการ จึงมีการบีบบังคับผ่านกลไกฝ่ายการเมือง ดังนั้นกระบวนการต่างๆ บอกราชการฝ่ายเดียว ธุรกิจไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีจิตสำนึก ก็ไม่มีทางทำสำเร็จ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องการรณรงค์เรื่องคุณธรรม เน้นซื่อสัตย์ ความพอเพียง การจัดซื้อจัดจ้าง และการซื้อขายตำแหน่ง การทำเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ จะส่งผลดีกับประเทศชาติมหาศาล
ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลด ละ เลิก ทุจริตในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อขายตำแหน่ง ว่า การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะกับโครงการขนาดใหญ่ จัดซื้อทั่วไป รวมทั้งในท้องถิ่น ยังมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบและติดตามสัญญาประมูล ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ขณะที่การซื้อขายตำแหน่ง ถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่า สำนักงาน ก.พ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ พร้อมเสนอข้าราชการตำแหน่งระดับสูง นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งแทน เพื่อไม่ให้มีการอ้างว่า เป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ
จากนั้นดร.จุรี กล่าวว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยมีความกล้าหาญ เลิกเกรงใจกัน มีการตำหนิคนทำผิด ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อ ขึ้นบัญชีดำสื่อที่ไม่มีคุณภาพ ใครลำเอียง นำเสนอข่าวไม่ตรงและสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งระบบการตรวจสอบต้องการการมีส่วนร่วมอีกมาก
ช่วงท้าย ที่ประชุมได้มีการจัดกลุ่มภารกิจประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อลด ละ เลิก ทุจริต โดยแบ่งเป็น 1.กลุ่มรณรงค์องค์กรเพื่อความโปร่งใส มอบหมายให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์คุณธรรมฯ 2. เรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง มอบหมายให้ หอการค้าไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก 3.เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย มอบหมายให้ นายสีมา สีมานันท์ กรรมการ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด รับหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร