ดันมหาวิทยาลัยหาช่องติดดิน ก่อนร่วมปฏิรูปสังคม
‘เพิ่มศักดิ์’ วอน ผลักดันมหาวิทยาลัยลงเรียนรู้ควบคู่ชุมชน ทำงานคู่ขนาน เป็นนักวิชาการเท้าเปล่า มากกว่าสั่งการในห้องสี่เหลี่ยม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงแก่นปัญหาสังคม ด้าน ‘หมอวิจารณ์’ เผย รอยร้าวลึกในสังคม จากระบบการศึกษาสร้างความไม่เท่าเทียม ทางออกที่ทำได้ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ครั้งใหม่
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีศาลายาเสวนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 7 เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องประชุม 4228 อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากที่เคยนำนักศึกษาลงไปในพื้นที่ชนบท แต่เดิมได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่ในปัจจุบันสามารถลงพื้นที่ได้เพียงครึ่งหมู่บ้าน เหตุมาจากความขัดแย้งที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งจากวิกฤตคนและวัฒนธรรมความรุนแรง และวิกฤตปัญหาจากสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ที่ปรากฏในชุมชน
“เกือบ 1 ใน 3 ของครอบครัวไทย มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น คนฐานล่างอยู่โดยไม่มีความสุข แม้ว่าความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติของสังคม แต่ระยะหลังๆ เกิดขึ้นมาก สาเหตุหลักมาจากการสื่อสาร ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว การให้ข้อมูล ระบบการศึกษาเรียนรู้ ทำให้คนเชื่อง่าย คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และเลือกข้าง แม้กระทั่งคนในครอบครัว ยังเกิดความหวาดระแวง และการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า การมุ่งให้เป็นเลิศทางวิชาการในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันคงยังไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างให้กระบวนการการเข้าถึงประชาชน ลงไปช่วยคิดช่วยทำ ใช้การปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม บุคลากร นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ต้องไม่เพียงนั่งศึกษาในห้องสี่เหลี่ยม แต่ต้องเป็นนักวิชาการเท้าเปล่า ลงไปในชุมชน โดยไม่ทิ้งการเรียนการสอน ทำงานคู่ขนานไป ใกล้ชิดกับแผ่นดิน และปัญหาทุกอย่างก็จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมากและผลิตบัณฑิตได้จำนวนเยอะในแต่ละปี แต่นับเป็นสิ่งที่น่ากลัว จากการสำรวจพบว่า นักศึกษาไทยจบสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจติดอันดับของโลก แต่การพัฒนาของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับประเทศที่ยอดแย่ และจากเหตุการณ์ช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเพียงผลจากระบบการศึกษา จากคนในมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทต่ำเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต
“หากจะแก้ ต้องไปแก้ที่สาเหตุ คือ ระบบของการศึกษาในมหาวิทยาลัย 6 ข้อ คือ 1.การเข้าเรียนต่อในระบบมหาวิทยาลัย ที่เป็นการเลือกเฟ้นเชิงระบบ คนที่สามารถเข้าเรียนได้ เป็นลูกขุนนาง ไม่ได้มาจากเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทำให้การปฏิรูปสังคม เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้คลุกคลีอยู่กับคนจำนวนมากและต่างชั้นวรรณะ 2.การศึกษาในมหาวิทยาลัยยังแยกส่วน ทำให้มองสังคมไม่ครบทุกด้าน 3.ขาดการสร้างจิตสาธารณะร่วม เพราะส่วนใหญ่ ต่างคนต่างเรียน และไม่สนใจซึ่งกันและกัน 4.ยังขาดการประสานงานการทำงานอย่างเป็นระบบ 5.สังคมไทยมีความแตกต่างกันด้านการเรียนรู้ และ 6.ปัญหาของคนที่ผิดความคาดหวัง มี IQ สูง แต่มี EQ ต่ำลงเรื่อย”
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตัวโรคที่แท้จริง คือ รอยร้าวในสังคม ที่เป็นสังคมร้าวลึก จากความไม่สอดคล้องของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ความเจตนาดีในระบบสังคมไทย ที่เรียกว่า ระบบอุปถัมย์ สร้างให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอยู่สูง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของการก้าวต่อไปข้างหน้า โดยระบบการศึกษาเอง ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมด้วย
“ระบบอุดมศึกษาที่เป็นสมองของสังคม ยังทำหน้าที่น้อยเกินไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจสังคม จากการที่ไม่ได้ลงไปคลุกคลี คนจำนวนกว่า 25 ล้านคนจบเพียงชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งมหาวิทยาลัยยังใกล้ชิดกลุ่มนี้น้อยมาก ขณะที่กฎหมาย รัฐธรรมนูญ คำตัดสินต่างๆ นโยบาย ยังขาดการทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ว่า จะเป็นผลอย่างไรในอนาคต นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ขับเคลื่อนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสังคมอุดมศึกษามีหน้าที่ต้องขับเคลื่อน ไม่ใช่เพียงชี้ถูกชี้ผิดทางการเมืองและมหาวิทยาลัยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากตอบว่าต้องทำให้ได้”
ส่วนนายไพบูลย์ วัฒนธรรมศิริ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤตเมษา-พฤษภา 53 แท้จริงยังไม่จบ แต่จะมีความรุนแรงปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ไม่นับเฉพาะคนที่บาดเจ็บล้มตาย แต่จะเป็นความแตกแยกในสังคมและเป็นวิกฤตที่เป็นความเสียหายยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์
“สาเหตุมาจากอะไร ยังตอบไม่ได้ แต่มี 3 องค์ประกอบที่มากระทบกัน แล้วเชื่อมโยงมากระทบต่อตนเอง คือ การเมือง ประชาชน และราชการ ซึ่งเมื่อทั้ง 3 ส่วนมากระทบกันก็ก่อให้เกิดปัญหา ทุกสิ่งไม่พัฒนา และวกวน เป็นวังวนของวิกฤต อาจจะปรากฏเป็นวิกฤตที่ใหญ่ที่สุด หรือเรียกว่า วงจรอุบาทว์ ซึ่งเราคนไทยทุกคนต้องช่วยกันกลับวงจรให้ได้ ให้มาเป็นวงจรแห่งการพัฒนา ระดมกำลังทำ เป็นวิธีคิดที่จะทำวิกฤตให้เป็นโอกาส และแก้ปัญหาตรงจุดที่สาเหตุ”
ขณะที่ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ความรู้นำไปสู่การแก้ปัญหาก็จริง แต่ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ตรงประเด็นด้วย การปฏิรูปประเทศไทยต้องดูที่สาเหตุ ถ้าไม่รู้สาเหตุ จะแก้อย่างไรก็ไปต่อไม่ได้
“ก่อนอื่นต้องรู้ปัญหา ว่าทำไมคนไทยจึงไม่เคยแตกแยกเช่นนี้มาก่อน สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้นโดยนักการเมือง ดังนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบคือนักการเมือง รองลงมาคือนักวิชาการ ผู้วางระบบกลไกการบริหาร ประเทศไทยสร้างระบบการบริหารในรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด นับตั้งแต่ พ.ศ.2535 ทำให้เกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน และการเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้กลุ่มนายทุนรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ซื้อเสียง เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ ท่ามกลางความอ่อนแอของประเทศไทย”
ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า จะออกจากวิกฤตนี้ได้ต้องมีรัฐบุรุษ เสนอรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง การสร้างการเมืองที่มีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เอาคนไม่มีความรู้มาโหวต การสร้างระบบการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการมีส่วนร่วมเฉยๆ แก้ปัญหาไม่ได้ สังคมมีคนรู้ คนไม่รู้ มีคนฉลาด ไม่ฉลาด การจะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ ต้องสร้างระบบการมีส่วนร่วม