พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สอนเด็กเข้าถึงปชต. มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง
อดีตอาจารย์ใหญ่สาธิตเกษตรฯ ระบุ การมุ่งสอนให้เด็กมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ถือเป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ด้านเลขา กกต. ย้ำวันนี้สอนเพียงแค่ทฤษฎีท่องจำไม่ได้แล้ว ขณะที่ดร.ลัดดาวัลย์ แนะให้เริ่มเพาะพันธุ์ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก
เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการจัดงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 3 หัวข้อ "นวัตกรรมนำสังคม : Best Practice from Lab Schools" ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2553 โดยในวันที่ 2 ของงาน มีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาวิถีประชาธิปไตยในโรงเรียน” มีดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง รศ.สมจิตร วัฒนคุลัง อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมเป็นวิทยากร ณ อาคารอุบล เรียงสุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร
ดร.สุทธิพล กล่าวถึงความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ว่า คือ อำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน อำนาจซึ่งใช้โดยประชาชน ขณะที่ประชาธิปไตยของประเทศไทยแตกต่างกับประเทศอื่นๆ เพราะเป็นอำนาจประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการแบ่งอำนาจอย่างถ่วงดุลและคานอำนาจกัน ระหว่าง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทั้งนี้หากระบบประชาธิปไตยทำงานอย่างครบถ้วน เชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหรือม็อบก็จะไม่เกิดขึ้น และแม้จะมีม็อบเกิดขึ้น ก็ต้องเป็นม็อบที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีเสรีภาพ มีภราดรภาพ รู้จักเหตุและผล ไม่ใช้เสรีภาพไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น
“ขณะนี้ประชาธิปไตยถูกใช้โดยไม่ชอบในกรุงเทพมหานคร ทุกฝ่ายกำลังอ้างประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในความเข้าใจของกลุ่มเสื้อแดงเข้าใจอย่างหนึ่ง รัฐบาลเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ว่า รัฐบาลได้มาเป็นคุณค่าจากประชาธิปไตย ทั้งนี้ ต้องถามว่า เป็นความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ เรามีประชาธิปไตย 78 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ วันนี้ยังมีการเรียนการสอน จึงต้องมาทบทวนแล้วว่า ทำไมคนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย มีการเรียนประชาธิปไตยมาอย่างไร หากเข้าใจจริงๆ ต้องเรียกร้องในกรอบที่ถูกต้อง”
ดร.สุทธิพล กล่าวต่อว่า การเรียนการสอนประชาธิปไตยของไทยในอดีต มีเพียงความรู้ด้านการเมืองการปกครอง โดยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องของนักการเมือง ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ต้องสร้างเข้าใจว่า เป็นเรื่องของเราทั้งหมด ที่มากกว่าเพียงการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ให้เข้าไปนั่งในสภาฯ และหากยังมองประชาธิปไตยเป็นเพียงการปกครอง ก็จะไม่ได้ผล
“ปัญหาของบ้านเมือง ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ทางทฤษฎี หรือเพียงการท่องจำ เรียนการสอนจากเลคเชอร์ เท่านั้น แต่หากผู้เรียนไม่มีจิตสำนึก ประชาธิปไตยก็จะไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างตอนนี้ก็เห็นว่า ผ่านมาจนแก่แล้ว ยังไปไม่ถึงไหน เป็นวงจรอุบาทว์จากการเลือกตั้งที่ส่งให้เราได้นักการเมืองที่ไม่ดีมานั่งบริหารประเทศ ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเงิน 100 – 200 บาท แต่หลักการของประชาธิปไตยต้องมากกว่านั้น ซึ่งหากขจัดการซื้อเสียงได้แล้ว เราจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”
เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า เราไม่ควรปล่อยให้ประชาธิปไตย เป็นเพียงการเสวนากับผู้ใหญ่ ต้องลงมาที่เด็กและเยาวชนด้วย เพื่อให้เกิดเป็นระบบต่อยอด เกิดการเรียนรู้ และไม่ใช่การบอกนักเรียนอย่างเดียว แต่ต้องฝึกให้รู้ว่า นำมาใช้อย่างไร ให้มีการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านกิจกรรม เช่น ลูกเสืออาสา คู่มือ 4 ช่วงชั้น เผยแพร่ประชาธิปไตย เพื่อสร้างบุคลิกภาพภาคประชาธิปไตยในเด็ก ฝึกความอดทน ฝึกให้มีหน้าที่ต่อชุมชน รู้จักประชาธิปไตยในโรงเรียน มีระบบเรื่องการเลือกตั้ง มีผู้แทนนักเรียน และให้รู้ว่าตัวเขา กับชุมชนมีความเกี่ยวข้องกัน ภายใต้กิจกรรมโครงการต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสร้างวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ดีขึ้น
ด้านดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรสร้างให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะขณะนี้เรากำลังใช้ประชาธิปไตยเพื่อการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น สำหรับคำถามที่ว่า ประชาธิปไตยยังสามารถใช้ได้ในสังคมไทยจริงไม่นั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอันดี มีความเป็นภราดรภาพติดอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ความเป็นพี่น้องจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้โดยไม่หวังผลตอบแทนจากระบบอุปถัมภ์ แต่นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง นักการเมืองนำสิ่งนี้ไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นระบบต้องตอบแทน เมื่อนักการเมืองแจกเงิน ผู้รับก็จะมีสำนึกในใจว่าต้องตอบแทนด้วยการให้เสียงให้คะแนน
รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงการออกแบบโครงสร้างระบบประชาธิปไตยว่า ไม่รองรับความหลากหลาย เมื่อมีโครงสร้างใหม่ออกมา ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เกิดปัญหาเกิดความแตกแยก อีกทั้งประชานิยม ทำให้ประชาชนคิดว่าต้องได้รับ รอจากรัฐ ขณะที่การรับฟังอย่างอดทน เรายังขาด สิ่งที่ต้องทำ คือ เปิดพื้นที่ให้แสดงออกมากขึ้น แม้ว่าการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ คือ การแสดงออก แต่ผลของการแสดงออกต้องคิดด้วยว่าเป็นอย่างไร
สำหรับการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยในปัจจุบัน ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า การเรียนการสอนของเราที่ผ่านมาบกพร่อง ครูที่สอนแค่ทฤษฎี ในวันนี้อาจไม่ตอบโจทย์แล้ว สถานการณ์ปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีในการสอน ครูต้องเปิดให้นักเรียนวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงได้ เปิดให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ โดยต้องไม่ตัดสินถูกผิด หรือชี้นำ เพื่อให้เด็กได้คิดด้วยตัวเอง
“ประชาธิปไตยเป็นดาบสองคม ถ้าทำไม่ดี ก็จะเป็นเหมือนการปกครองของฮิตเลอร์ ประเทศเยอรมัน เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง” รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าว และว่า เป็นโอกาสที่สำคัญที่เราจะมาร่วมสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในระดับเด็ก เพราะการเริ่มเพาะพันธุ์ตั้งแต่ระดับเด็ก ทำให้เด็กได้ผ่านกระบวนการหลายๆอย่าง เกิดเป็นการหล่อหลอมให้เกิดความคิด มองหาปัญหา ซึ่งอาจเริ่มจากให้นักเรียนอ่านมากๆ หรือเริ่มจากการนำข่าวมานั่งถกเถียงกัน ให้เกิดการเรียนรู้ หากเริ่ม สร้างเด็ก สร้างคน อนาคตเด็กไทยก็จะมีความหวัง”
ส่วน รศ.สมจิตร กล่าวว่า การที่มุ่งสอนให้เด็กมีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ถือเป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ต้องสื่อให้รู้ว่า ประชาธิปไตย คือ ความรับผิดชอบ เพื่อเกิดเอกภาพในสังคม อย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะไม่มีสภานักเรียน แต่สร้างให้ทุกคนมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ เพราะประชาธิปไตย ต้องใช้ปัญญา สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางของการเรียนรู้ประชาธิปไตยตั้งแต่วัยเรียนที่ดีในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้