พระไพศาล เตือนสติก้าวข้ามความรู้สึกโกรธแค้น-แค้นเคือง
แนะทั้ง 2 ฝ่ายลดทิฐิ ลดเงื่อนไข หันมาหากัน และไม่ควรนำความสูญเสียมาเป็นเครื่องมือให้เกิดความโกรธแค้น เกลียดชัง ขณะที่หมอนิรันดร์ ขอให้รัฐบาลในฐานะผู้นำ มีวุฒิภาวะกว่า เริ่มก่อนยื่นข้อเสนอ ใช้ทุกวิถีทางสันติวิธี
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. พระไพศาล วิศาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ในรายการฝ่าวิกฤติประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ถึงเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหาร-ม็อบแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า อยากให้คนไทยมองความสูญเสียที่เกิดขึ้น ในแง่การเตือนใจให้เราเห็นโทษของความรุนแรง ซึ่งหากคนไทยไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกโกธรแค้นหรือแค้นเคืองได้ โอกาสจะเกิดความปกติสุขหรือความสงบขึ้นในบ้านเมืองก็จะยากยิ่งขึ้น
เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวว่า การใช้ความโกรธความเกลียดนั้น เวรต้องระงับด้วยการไม่จองเวร โดยเราต้องใช้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ ด้วยการทำให้ ทั้ง 2 ฝ่ายลดทิฐิมานะลง หันมาหากัน ซึ่งต้องให้คุณค่าของชีวิตมนุษย์เป็นสำคัญก่อน ขณะที่แต่ละฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการความสงบเรียบร้อย อีกฝ่ายหนึ่งต้องการความเป็นธรรม ต้องการประชาธิปไตย แม้ทั้งสองอย่างจะสำคัญ แต่ก็ไม่ควรมุ่งมั่นกับสิ่งเหล่านี้มากจนกระทั่งไม่เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไรก็ตาม
“อยากให้ใช้ความสูญเสียที่ผ่านมาเตือนสติเราว่า เรามิควรมุ่งมั่นในเรื่องของความปกติสุข ความสงบเรียบร้อย หรือความเป็นธรรม จนลืมชีวิตมนุษย์มีค่าอย่างไรบ้าง และไม่ควรนำความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องมือให้เกิดความโกรธแค้น เกลียดชัง กระแสสังคมต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันมาคุยกัน คิดว่า ขณะนี้ยังไม่สายที่เราจะมาลดเงื่อนไข คุยกัน อย่างน้อยทำให้ความรุนแรง การเผชิญหน้าน้อยลง”
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องมีสติ และกลับมาคิดกันว่า แนวทางการเจรจา มีทางจะเกิดขึ้นได้ ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีอะไรซ่อนอยู่ นปช.ไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซ่อนอยู่ ไม่มีเจตนาล้มล้างสังคมไทย ขณะที่รัฐบาลไม่ต้องการเอาชนะเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันสังคมทุกภาคส่วนต้องออกมามีส่วนร่วมมากกว่านี้ ยื่นข้อเสนอ ไปที่นปช.ด้วย รัฐบาลด้วย ให้เห็นกรอบการเจรจา รวมทั้งสื่อต้องหยุดการปลุกระดม ยั่วยุ
“รัฐบาลในฐานะผู้นำและมีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบมากกว่า ต้องยื่นข้อเสนอออกไป ทำให้เห็นกระบวนการเจรจา มีกรอบเวลา เพื่อให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามใช้ทุกวิถีทางสันติวิธี” นพ.นิรันดร์ กล่าว และว่า วันนี้รูปธรรมที่ต้องแสดงออกให้สังคมแยกให้ออกระหว่างสันติวิธีกับความรุนแรงมีอยู่ 4 เรื่อง 1.ทำให้ชัดการชุมนุมในพื้นที่ ตรงไหนยอมรับได้ ยอมรับไม่ได้ ละเมิดสิทธิ 2.สื่อของรัฐ ใครรุนแรงบ้าง ต้องคุย พีทีวีมีหรือไม่ ยั่วยุ คุกคาม ปลุกระดมมีหรือไม่ ของช่อง 11 มีหรือไม่ ก็ต้องมาพูดกัน 3.อาวุธ ทุกอย่างขณะนี้มีมือที่ 3 รัฐบาลก็ต้องใช้อำนาจไปจัดการ 4.ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ไม่ใช่ใครก็ได้สามารถชิงศพ นำไปปลุกระดมนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะศพทุกศพต้องมีการพิสูจน์ มีกระบวนการในการตรวจสอบ ว่า ที่ถูกละเมิดถึงตายนั้นเพราะอะไร
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องพลิกโอกาสตรงนี้ขึ้นมานำทางการเมืองให้ได้ โดยวิธีคิดทางการเมือง ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และสร้างความชอบธรรมในเรื่องกระบวนการโดยการเสนอตัว มิเช่นนั้นสถาบันทหารจะเข้ามาล้มกติกาทั้งหมด เพราะเห็นว่า รัฐบาลพลเรือนจัดการไม่ได้ โดยทหารส่วนหนึ่งไม่ยอมให้เกิดมิคสัญญี
สำหรับผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความเข้าใจว่าอะไรคือความสงบ ไม่สงบ และยังมีความต้องการเอาชนะกันอยู่ ถึงวันนี้ หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ปรากฎว่า ภายใต้มาตรฐานที่รัฐบาลพยายามจะรักษาความสงบเรียบร้อย ก็ยังไม่ประสบผล เหตุการณ์ วันที่ 10 เมษายน สะท้อนว่า มีกลุ่มกองกำลังที่ไม่ใช่ทหาร หรือแฝงตัว ทำลายกองกำลังทหารได้ สิ่งนี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสถาบันทหาร เป็นความขัดแย้งที่ซ้อนกันอยู่
“หากรัฐบาลกับทหารไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือความมั่นคงสูญสลายไป อำนาจรัฐสูญสลายไป เมื่อนั้นผู้ที่ต้องการเข้าแก้ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้น เกิดรัฐประหาร”
ส่วนรศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การชุมนุมที่ผ่านมารัฐบาลทำเรื่องการตอบโต้ ชี้แจง ให้ประชาชนและผู้ชุมนุมเห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น ผิดกฎหมายอย่างไร ไม่ถูกอย่างไร ทำให้ประชาชนเสียหายอย่างไร รัฐบาลทำเรื่องนี้น้อย จนผู้คนรู้สึกว่า นี่คือความชอบธรรม คือการใช้สิทธิเสรีภาพ ถึงวันนี้กลับไปทำก็ไม่ทันกาลแล้ว เพราะเหตุการณ์ได้ข้ามขั้นตอนการเจรจาไปสู่การเผชิญหน้าแล้ว
“มองไม่เห็นใครจะเป็นผู้ให้คู่กรณีมาสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งคนนั้นทั้ง 2 ฝ่ายฟัง ในเมื่อนปช.ได้เปรียบและเห็นชัยชนะ จึงมองว่า ได้ข้ามขั้นตอนการเจรจาไปแล้ว การกระตุกกลับมาได้นั้น ต้องกระตุกแรงมาก แต่วันนี้ อยากฝากบอกผู้คนว่า หากเห็นว่าสภาวะแบบนี้รับไม่ได้อีกแล้ว ท่านจะนั่งดูอย่างนี้หรือ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้แรงกว่าทุกครั้ง ยังไม่จบ นี่แค่เริ่มต้น เรามองไม่เห็นว่า จะยุติอย่างไร แนวโน้มความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น”