เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประเทศชาติ ดร.สุเมธ แนะจำเป็นต้องทำ
ในหลวง ทรงเคยรับสั่ง บ้านเมืองไทยไม่แตก เพราะคนไทยยังให้กันอยู่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เตือนสติคนไทย ขอให้ก้มลงดูเท้า กำลังเหยียบอยู่ตรงไหน ชี้แผ่นดินนี้ต้องรักษาไว้เพื่อจะได้มีที่ยืน ที่เหยียบ ที่อยู่
วันนี้ (8 เม.ย.) คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุแห่งชาติและมีการเสวนาช่วงบ่าย เรื่อง “สูงวัยอย่างไร จึงมีสุข” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
ในช่วงเช้า ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "สังคมผู้สูงวัยในอนาคต" โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ว่า เกิดจากบริโภคนิยม และค่านิยมที่ยึดติดกับวัตถุที่อยู่รอบกาย ทำให้อารมณ์ติดไปด้วย สติหายไปหมด
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่ง บ้านเมืองไทยยังไม่แตก เพราะคนไทยยังให้กันอยู่ จะเห็นว่า ในทศพิธราชธรรม 10 ประการ คือ 1.ทาน (ทานํ) 2. ศีล (ศีลํ) 3. บริจาค (ปริจาคํ) 4. ความซื่อตรง (อาชชวํ) 5.ความอ่อนโยน (มัททวํ) 6.ความเพียร (ตปํ) 7.ความไม่โกรธ (อกฺโกธ) 8.ความไม่เบียดเบียน (อวีหึสา) 9.ความอดทน (ขันติ)10.ความยุติธรรม (อวิโรธนํ) นั้น มีคำว่า ให้ ถึง 2 คำ คำแรก ทานํ คือการให้โดยไม่หวังผลประโยชน์กลับคืนมา เช่น เมื่อเห็นเด็กตกน้ำแล้วเข้าไปช่วย หรืออาจให้โดยการยิ้มให้ เจอใครมีความรู้สึกดีๆ ให้ เป็นต้น ส่วนอีกคำ ปริจาคํ คือ การให้แล้วเอาคืน เช่น การบริจาคแล้วได้โรงเรียน โรงพยาบาล กลับคืนมา เป็นการบริจาคของเล็กๆ เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า”
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า การทำอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเรา ถือว่าเป็น ปริจาคํ เช่น ทำอะไรเพื่อครอบครัว ทำงานเพื่อชุมชน ทำงานให้องค์กร ยิ่งเสียสละให้กับประเทศชาติยิ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทำ โดยแท้จริงแล้วปริจาคํ คือ การเสียสละให้กับตัวเอง เมื่อแผ่นดินอยู่ดีแล้ว มีความสงบ ผาสุก คนที่อยู่ในแผ่นดินนั้นก็จะได้รับประโยชน์ นี่คือการทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้น
“คนไทยขณะนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ ขอให้ก้มลงดูตีน กำลังเหยียบอยู่ตรงไหน เหยียบอยู่บนดิน แล้วดินเรียกว่า อะไร ก็ดินไทย หากไม่มีดินไทย ก็ไม่มีที่ให้เหยียบ ฉะนั้นดินนี้ต้องรักษาจะได้มีที่ยืน ที่เหยียบ ที่อยู่ ”ดร.สุเมธ กล่าว พร้อมกับตั้งคำถามให้คิดว่า หากทำลายแผ่นดินไทยไปแล้ว เราจะไปยืนหรือจะไปอาศัยแผ่นดินประเทศอื่นเหยียบ น่าภาคภูมิใจหรือไม่
ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า เราต้องกลับมาทำจิตสำนึก ไม่เว้นแม้การบริหารประเทศก็ต้องกลับมาดูฐาน ดูทุนของตัวเอง มาประเมินตัวเอง ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง และอยู่อย่างไม่ประมาท ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเสียดายที่นักวางแผน หรือผู้บริหารของประเทศไม่เคยเป็นตัวของตัวเอง
“เราต้องประเมินตัวเอง ประเมินฐานของประเทศของเราว่า ประเทศควรเดินไปข้างหน้าอย่างไร เราไม่จำเป็นต้องเหมือนสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเหมือนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไทยเป็นไทย ทุนของเราคือการเกษตร แต่วันดีคืนดีจะลุกขึ้นมาอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (นิกส์) ถัดจากนั้นอยากเป็นเสือตัวที่ 5 หากวันนั้นมีการประเมินตัวเอง เขาเป็นเสือกันหมด แล้วเราเป็นตัวอะไร วันนั้นเราจะรู้ว่า เราไม่ได้เป็นเสือ แต่เราเป็นควาย เพราะประเทศไทยไม่ได้มีฐานอุตสาหกรรมแม้แต่น้อย เราคือเกษตร แต่วันนี้กลับทิ้งมุ่งไปอุตสาหกรรม จนการทำการเกษตรจาก 45% เหลือเพียง 9%”