หมอมงคล แนะใช้มิตรภาพบำบัด เยียวยาคนป่วยทางจิต
ชูนพ.แพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เริ่มใช้นโยบายมิตรภาพบำบัด แก่ทุกคนที่อยู่รอบข้างให้ด้วยจิตที่เป็นกุศล พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สามี ภรรยา เพื่อนร่วมโลก เชื่อเป็นแบบอย่างที่จะทำให้สังคมมีความสุข
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ในงาน “มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร มีเครือข่ายมิตรภาพบำบัดจากทั่วประเทศ เข้าร่วมงาน
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า มิตรภาพบำบัด ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หรือผู้พิการเท่านั้น แต่เป็นการให้กับเพื่อนมนุษย์ที่เกิด แก่ เจ็บตาย ทุกคน อย่าไปคิดเฉพาะคนที่ป่วย ที่เห็นได้เพียงภายนอก แต่คนป่วยที่ไม่ปรากฎสภาพ หรือป่วยทางจิต ถือเป็นการป่วยที่น่าสงสารที่สุด เพราะอาจจะมีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายคนรอบข้าง ต่างกับคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือโรคร้ายอื่นๆ จะไม่ทำร้ายแม้กระทั่งตัวเอง แต่จะมีความเมตตาให้กับคนอื่นอีกด้วย
“คนที่ร่างกาย สุขภาพสมบูรณ์ แต่มีสุขภาพจิตวิญญาณที่เป็นทุกข์ ในสังคมไทยยังมีอีกเยอะ อย่าไปเลือกช่วยเพื่อนมนุษย์ที่มีการเจ็บป่วยแค่เพียงร่างกายเท่านั้น ต้องช่วยทุกๆคน และต้องช่วยให้มากที่สุด และเร็วที่สุด ด้วยวิธีการที่ง่าย คือ การใช้มิตรภาพ ด้วยการให้ด้วยจิตใจอันเป็นมิตร”
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า เรามีสิ่งที่น่ากลัวอยู่แล้ว ในความเป็นคน คือกิเลส 14 ประการ ศีล 4 ข้อ คติ 4 ข้อ และอบายมุข 6 ข้อ ซึ่งถ้าตัดกิเลสได้ด้วยการให้ ก็จะเป็นคนที่มีจิตใจที่ดี ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข จะเป็นแนวทางของการสร้างมิตรภาพบำบัดที่ดีที่สุด เพราะถ้าเรามีจิตใจที่ดี การคอร์รัปชั่น การเอาของผู้อื่น , การฆ่าคน ,การโกหก ว่าร้ายผู้อื่น และสร้างความเดือดร้อนในสังคม ก็จะไม่เกิดขึ้น
“การที่จิตสงบ เกิดจากการให้ เป็นทางเดินที่ดี กรณีนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เริ่มใช้นโยบายสิ่งนี้มา ถือเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต ไม่ใช่สิ่งเล็กสิ่งน้อยที่จะปฏิบัติได้ ให้แก่ทุกคนที่อยู่รอบข้างให้ด้วยจิตที่เป็นกุศล พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สามี ภรรยา เพื่อนร่วมโลก แล้วเราจะได้สังคมที่มีสุขภาวะ นำไปสู่ปัญญา โดยสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดจะทำได้เท่านั้น พวกเราทุกคนสามารถทำได้และร่วมมือกัน เพียงแต่ว่า เราตั้งใจมั่นหรือไม่ว่าจะทำ และต้องทำไปตลอดชีวิต เพื่อให้ทุกคนมีความทุกข์น้อยลง”
ด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การขยายเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้งานมิตรภาพบำบัด เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันขยายเพิ่มเกือบ 10 เครือข่าย มีกิจกรรมไปได้ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นหน่วยบริการในท้องถิ่น ซึ่งหากต่อไปมีศูนย์เครือข่ายมิตรภาพบำบัดทุกเครือข่าย ทุกตำบล ที่ทำงานร่วมกับ วัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะช่วยทำให้ชาติพัฒนาไปได้
“แต่ละเครือข่ายก็จะมีจุดเด่น ต่างกันออกไป และจะทำให้ก้าวหน้า ต่อไปนี้ผู้ป่วยมะเร็งทุกที่เป็นเพื่อนกัน คนไข้ต่างๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แล้วสานพลังให้ชุมชน ที่จะช่วยคนอื่นด้วย สปสช.จะเป็นตัวกลางในการเริ่มต้น การจัดเวทีต่างๆ ให้มีสานพลังกัน ทำงานเคียงคู่กัน เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นของระบบสวัสดิการในสังคมที่จะเคลื่อนไป”