นักกม.เตือนอย่ามองข้ามจุดเล็กๆการขัดกันของผลประโยชน์
ศ.สิทธิโชค ศรีเจริญ ชี้การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปล่อยไปจะพัฒนาไปสู่การคดโกง มหาโกง สุดท้ายจะนำไปสู่ความอ่อนแอขององค์กร ของประเทศ ศ.ดร.คณิต โทษสถาบันการศึกษาละเลยการสอนให้ถึงแก่น สอนให้ตีความตามตัวอักษร
วันนี้ (27 มี.ค.) กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานวิชาการประจำปี รำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 15 เรื่อง “การครองตนของนักกฎหมาย:การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ปาฐกพิเศษ โดยเห็นว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเพียงหลักจริยธรรม แต่เป็นหลักกฎหมายด้วย ซึ่งใช้บังคับและไม่ใช่กับนักกฎหมายเท่านั้น แต่ใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจทุกคน
ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ได้ทำลายระบบคุณธรรม ทำลายประเทศ ทั้งหมดเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องผิดกฎหมายทั้งสิ้น จึงถึงคราวที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนด้านกฎหมายเพื่อให้เป็นสากล ขณะเดียวกันได้กล่าวโทษสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้สอนเรื่องนี้ให้ถึงแก่น สอนเพียงตัวอักษร ให้ตีความกันตามตัวอักษร แม้กระทั้งการชั่งน้ำหนักทางพยานหลักฐานของไทยไม่ใช้ตรรกะ อย่างเช่น การโอนหุ้นให้ลูกตรรกะที่ไหนไม่มีค่าตอแทน ซึ่งสังคมไทยต้องเข้าใจสิ่งเรานี้อีกมาก
ด้านดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความหมายของคำว่า การขัดกันผลประโยชน์ที่เวลานี้สำคัญมากกับสังคมไทย ความหมายมี 2 นัยยะ 1.อาจหมายถึงการขัดกันของกลุ่มคนต่างๆในสังคม และ 2.ในคนๆเดียวมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีประโยชน์สองอย่างอยู่ในคนๆ เดียวกัน สังคมประชาธิปไตย ความหมายแรกจึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ยังรับได้ แต่ในความหมายที่สองมีปัญหา เป็นเรื่องที่รับไม่ได้จำเป็นต้องแก้ไข
“การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลประโยชน์ส่วนตัวและหน้าที่ราชการขัดแย้งกัน เป็นธรรมชาติของมนุษย์เลือกประโยชน์ส่วนตัวก่อน กรณีเช่นนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ทำให้ความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนสั่นคลอน ความมั่นคงของรัฐก็สั่นคลอนตามไปด้วย”
ส่วนศ.สิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมารยาท สภาทนายความ กล่าวว่า การขัดกันของผลประโยชน์ เป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน คำตอบกว้าง ๆ คือผลประโยชน์ส่วนตัวขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่คนหลายๆคน มองไม่ออกว่า เป็นผลประโยชน์ส่วนรวม และยังปล่อยให้ผ่านไปนั้นเรื่องนี้จะพัฒนาไปสู่การคดโกง มหาโกงต่อไป ทั้งหมดมาจากจุดเล็กๆ จุดนี้
“นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กลุ่มธุรกิจการเมือง องค์กรขนาดใหญ่ ต้องระวังอย่ามองข้ามการขัดกันของผลประโยชน์ แม้เป็นเพียงจุดเล็กๆน้อยๆ มิเช่นนั้นจะนำไปสู่ความอ่อนแอขององค์กร ของประเทศชาติได้ ฉะนั้นการตีความหลักขัดกันของผลประโยชน์ ต้องตีอย่างกว้าง เพราะพื้นฐานมาจากจริยธรรมของมนุษย์”
สำหรับศ.ดร.เมธี ครองแก้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การที่บุคคลใช้ความเป็นผู้แทนของรัฐ ใช้อำนาจรัฐไปก่อให้เกิดผลได้กับรัฐ โดยผลที่ได้กับแบ่งเอาส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของประโยชน์ที่ได้ไปเป็นของตนเอง แบบนี้ถือว่า ได้กระทำการทุจริตแล้ว ซึ่งเป็นความบกพร่องทางจริยธรรม แค่นี้ก็ถือว่า หนักหนาสาหัสแล้ว
ขณะที่อัยการจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีผลประโยชน์ขัดกันว่า แม้ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ แต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงกฎหมายต้องรู้สึกแยกแยะสิ่งใดถูกต้อง โดยเฉพาะองค์กรอัยการ ที่ต้องมีดุลยพินิจกึ่งตุลาการ พนักงานอัยการจึงควรมีความอิสระ
“ความอิสระจะเกิดขึ้นได้ ต้องไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ ถ้าไม่อิสระไม่มีทางจะเกิดความเที่ยงธรรมได้ ดังนั้นความหมายผลประโยชน์ทับซ้อนจึงกว้างกว่าการทุจริตคอรัปชั่น สิ่งที่ต้องแยกแยะ มีคุณธรรม จริยธรรม ถึงทำหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรมได้” อัยการจันทิมา กล่าว และว่า การสั่งคดีของอัยการ จึงต้องอยู่บนเนื้อหาสำนวน ข้อเท็จจริง การสั่งไม่ใช่เพื่อความถูกใจ แต่เพื่อความถูกต้อง ขณะที่บทบาทอัยการในระยะหลังๆ กับเรื่องของการขัดกันของผลประโยชน์ มีอัยการไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจจนหลายครั้งทำให้เกิดความขัดกันในผลประโยชน์
อัยการจันทิมา กล่าวถึงการจัดระยะระหว่างนักการเมืองกับอัยการว่า การไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ แม้จะมีข้อยกเว้น ต้องให้กอ. อนุมัติ แต่การเมืองก็แทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยนำอัยการไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้มีถึง 30-40 คน ตรงนี้ทำให้ไม่สามารถจัดระยะเพื่อให้มีดุลยพินิจอิสระได้ พร้อมเสนอให้อัยการควรออกจากการเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
สุดท้ายนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์กับหน้าที่โดยถูกกฎหมายนั้น ควรเสนอให้นำอัยการที่เกษียณแล้วไปนั่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจแทนเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาจะพบว่า ต้องการตำแหน่งมากกว่าตัวบุคคล ประกอบกับขณะนี้ก็ยังมีกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นระดับผู้บริหารของส่วนราชการ ซึ่งในบางครั้งส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบการทุจริต