สสส.ปลุกกระแสชวนเด็ก-เยาวชนใกล้ชิดศาสนา เข้าวัดวันอาทิตย์
จับมือ 600 วัดจาก 15 จังหวัด ภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ ร่วมสร้าง “ศูนย์กลางชุมชนจัดกิจกรรม” ปลุกกระแสชวนคนไทยเข้าวัดวันอาทิตย์ ตั้งเป้าดึง 8 แสนคนร่วม พร้อมอัดฉีดวัดละ 3 หมื่นบาท ดีเดย์ “เข้าวัดวันอาทิตย์” 1 พ.ค.นี้
วันนี้ (25 มี.ค.) ณ ห้องบงกช บี ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธิการแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “600 วัดเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน” มีเป้าหมายให้วัด 600 แห่งจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทุกวันอาทิตย์เพื่อดึงคนไทยใส่ใจหันกลับมาเข้าวัดมากขึ้น และเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กเยาวชนและคนในชุมชน พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป้าดึงคนไทยเข้าวัดอย่างน้อย 800,000 คนด้วยงบประมาณ 28 ล้านบาท ซึ่งวัดในโครงการจะเริ่มกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป
นายธำรง อมโร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนวัดเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนและชุมชน สสส. และอดีตรองอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า วัดมีบทบาทในสังคมไทยมายาวนาน ข้อมูลปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนวัดทั่วประเทศ 35,271 แห่ง มีภิกษุกว่า 2.5 แสนรูป สามเณร 70,000 รูป มีพุทธศาสนิกชนอีก 46.9 ล้านคน แต่ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนไป คนไทยห่างเหินการเข้าวัดและทำกิจกรรมร่วมกับวัดโดยเฉพาะยิ่งเด็กและเยาวชน เหตุนี้จึงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของวัดต่อชุมชนให้มากขึ้น
นายธำรง กล่าวอีกว่า หลักการของโครงการนี้คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมของทุกคนในชุมชนผ่านกิจกรรม อันดับแรก คือ การดึงคนเข้าวัดเริ่มโดยการปรับภูมิทัศน์ของวัดให้สะอาด สวยงามก่อน และจากนั้นจะใช้กิจกรรมในวันอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อน คาดว่าจะสามารถดึงคนเข้าร่วมกิจกรรมกับวัดได้อย่างน้อย 800,000 คน ซึ่ง จะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประชาชนโดยรวม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยงานราชการ ได้ร่วมกันคืนวิถีชีวิตดั่งเดิมให้คนไทย อันจะก่อให้เกิดกระแสการเข้าวัดวันอาทิตย์ขยายผลไปยังวัดและชุมชนอื่น
“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้เป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยมุ่งให้เกิดการบูรณาการวิถีชีวิตของชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะให้วัดในโครงการจัดกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ มีโรงเรียนและชุมชนร่วมสนับสนุนด้วย เช่น การปฏิบัติธรรม อบรมเทศนา สอนศาสนา หอกระจายข่าวเผยแผ่ธรรมะ ห้องสมุดวัด อบรมอาชีพ ตรวจสุขภาพ เป็นต้น ส่วนรูปแบบของกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวัด ระยะดำเนินการโครงการเริ่มตั้งแต่เดือนก.พ.ปีนี้ถึงเดือนพ.ค.ปีหน้า ซึ่งแต่ละวัดจะได้ทุนสนับสนุนโครงการวัดละ 30,000 หมื่นจากทุนสสส. 28 ล้านบาท และโครงการจะมีทุนอุดหนุนในเครือข่ายระดับจังหวัดระหว่างกันด้วย”ผจก.โครงการกล่าว และว่า มีการคัดเลือกวัด 600 แห่ง จาก 15 จังหวัดใน 3 ภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วม จังหวัดละ 40 แห่ง ภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ส่วนภาคใต้ คือ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล
ด้านนายสุรินทร์ จิรวิศิษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส. และอดีตอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวถึงการคัดเลือกวัดที่เข้าร่วมว่า ส่วนหนึ่งเป็นเครือข่ายที่ทางสสส.เคยให้การสนับสนุน ในโครงการวัดสุขภาวะที่เข้าร่วมกับจังหวัด และชุมชนมาก่อน โดยเน้นให้วัดทำกิจกรรมต่อเนื่องจากปัญหาและความต้องการเพื่อให้ทางวัดและชุมชนได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องได้ด้วยตัวเอง วันนี้อยากให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคมไทยได้เข้าวัดเพื่อเรียนรู้ถึงศาสนา หรือเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนไม่ใช่เพียงเข้าวัดเพื่อไหว้พระแล้วจากไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร อยากเห็นภาพของคนไทยเข้าวัดเพราะตัวกิจกรรมของวัดเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน
“วันนี้วัดอาจต้องเปลี่ยนเป็นแนวทางจากแนวตั้งรับ (Passive) ให้เป็นแนวรุก (Active) เพื่อให้เท่าทันกับสังคมมากขึ้น เพราะเมื่อวัดขับเคลื่อนได้แล้ว จะช่วยให้สังคมเคลื่อนอย่างเป็นองคาพยพ สังคมก็จะได้เห็นวัดที่ดี และมีคุณภาพให้คนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากการจัดพิธีกรรมทางศาสนา ยิ่งเมื่อเราเน้นไปที่เด็กและเยาวชนก็จะช่วยดึงให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมในช่วงวันหยุด เพื่อจะสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้กับสังคมโดยให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และต้นแบบที่ดีต่อคนในชุมชนต่อไป” นายสุรินทร์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมที่จะมีการดำเนินการนั้นประกอบ ด้วย การทำบุญตักบาตร การรักษาศีล ปฏิบัติธรรม อบรมเทศนา การพัฒนาวัดตามโครงการ 5 ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) จัดป้ายคติธรรมคำกลอนในต้นไม้บอร์ด หอกระจายข่าวประชาสัมพันธ์เผยแพร่ธรรมะในวันหยุด จัดบอร์ดนิทรรศการผลงานกิจกรรมวัด ลด ละ เลิก อบายมุข เปิดห้องสมุด/พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน กิจกรรมตรวจสุขภาพ กายภาพบำบัด จัดการศึกษาวันอาทิตย์ เปิดการเรียนการสอนวิชาชีพ เช่น ตัดเสื้อผ้า ทำขนม ตัดผม จัดสวนสมุนไพร เพาะเห็ด ฯลฯ จัดกิจกรรมประกวดแข่งขันสวดมนต์ รำไทย ดนตรีไทย วาดเขียน งานศิลปะ ศูนย์ห้องประชุม กีฬา นันทนาการ